"สมอ." ทำลายสินค้าเถื่อนล็อตใหญ่กว่า 30 ล้านบาท

02 มิ.ย. 2564 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2564 | 03:32 น.

"สมอ." ทำลายสินค้าเถื่อนล็อตใหญ่กว่า 30 ล้านบาท พร้อมควบคุมสินค้า 2 รายการ ทั้งเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนและเตารีดไฟฟ้า

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (บอร์ด สมอ.) มีมติเห็นชอบในการทุบ ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก. ของผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย ที่คดีถึงที่สุดแล้ว เป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท  ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องทำความสะอาดผิวหน้า , เครื่องเล่นแผ่นดิสก์ , บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ , ชุดสายพ่วง , หม้อต้มแว็กซ์ , กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี  , ของเล่น , หมวกกันน็อค และกระจกนิรภัยรถยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ สมอ. ได้ส่งให้ผู้รับกำจัดซากที่ได้รับอนุญาตตาม พรบ.โรงงานฯ ดำเนินการทำลายสินค้าดังกล่าว  
    นายวันชัย พนมชัย  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า บอร์ด สมอ.ยังได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมสินค้า 2 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และคุ้มครองเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนสำหรับงานโครงสร้างเครื่องจักรกล และเตารีดไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย เนื่องจาก สมอ. ได้มีการทบทวนแก้ไขมาตรฐานให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ประกอบกับในรอบปี 2561-2563 มีการนำเข้าเหล็กชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 87,000 ล้านบาท และนำเข้าเตารีดไฟฟ้าเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศ สมอ. จึงขอความเห็นชอบบอร์ดควบคุมสินค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
    นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐาน ทั้งที่เป็นมาตรฐานใหม่ และมาตรฐานเดิมที่นำมาทบทวนแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งสิ้น 34 มาตรฐาน ได้แก่  คอนกรีตแห้งสำเร็จรูป , คอนกรีตแห้งสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล , เสื้อชูชีพ , เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับทำความสะอาดพื้นผิว , กระทะไฟฟ้าที่ใช้ในร้านอาหาร  , หม้อทอดไฟฟ้า , เครื่องเลเซอร์กำจัดขน , เครื่องตัดผม (ปัตตาเลี่ยน) , ดวงโคมไฟฟ้า , ภาชนะเหล็กหล้าไร้สนิมสำหรับอาหาร , เลื่อยไฟฟ้า  และเคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคม เป็นต้น     
    "กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยถือเป็นภารกิจสำคัญนอกเหนือจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19)"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :