ตามที่มีสื่อมวลชนบางสื่อ ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom มีเนื้อหาดังนี้ รถไฟทางคู่สายเหนือก่อนหน้านั้น ในสมัย คสช. ที่มีซูเปอร์บอร์ด(คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ) ได้มีมติการแบ่งสัญญาการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือเป็น 7 สัญญา หลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ มีนายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่มีนายศักดิ์สยามมาเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562
เพื่อยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ไม่จำเป็น มีผลให้คณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดต้องสิ้นสุดลง ทาง รฟท. จึงถือโอกาสทำสัญญาจ้างที่ปรึกษา ลงนามวันที่ 16 มีนาคม 2563 เพื่อศึกษาทบทวนการแบ่งสัญญา การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือจากเดิม 7 สัญญามาเหลือ 3 สัญญา โดยแต่ละสัญญาให้รวมระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วย โดยอ้างว่าถ้าซอย 7 สัญญา งานจะเสร็จช้ากว่า 3 สัญญาการรถไฟฯ เห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอนี้อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน จึงขอเรียนชี้แจงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องดังนี้
การรถไฟฯ ได้ทบทวนการแบ่งสัญญาจากประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการมาในอดีต ซึ่งมี 2 แนวทางโดยแนวทางแรกเป็นการรวมงานอาณัติสัญญาณฯไว้ในสัญญาเดียวกันกับงานโยธา เช่น โครงการทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และโครงการทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย แนวทางที่สองเป็นการแยกงานอาณัติสัญญาณฯออกจากงานโยธา คือ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยสัญญางานโยธา 10 สัญญา และสัญญางานอาณัติสัญญาณฯ 3 สัญญา รวม 13 สัญญ
จากผลการดำเนินการของโครงการทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และโครงการทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่รวมงานอาณัติสัญญาณฯไว้ในสัญญาเดียวกันกับงานโยธานั้น ไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ไม่มีปัญหาเรื่องการประสานงานการทำงานระหว่างผู้รับเหมางานโยธาและผู้รับเหมางานอาณัติสัญญาณฯ และไม่มีปัญหาเรื่องความล่าช้าของการก่อสร้าง สามารถเปิดใช้งานให้บริการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน
ทำให้ไม่ต้องรองานส่วนใดส่วนหนึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้วถึงจะทำการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาในกระบวนการถัดไป แต่จากผลการดำเนินการของโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่แยกงานอาณัติสัญญาณฯออกจากงานโยธาตามแนวคิดของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คจก. หรือ ซุปเปอร์บอร์ด) พบปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประเด็น เช่น การเริ่มต้นงานของผู้รับเหมางานอาณัติสัญญาณฯ ล่าช้า เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามแผน
ได้ผู้รับจ้างงานโยธาก่อนผู้รับจ้างงานอาณัติสัญญาณฯ 2 ปี ซึ่งตามหลักการต้องได้ผู้รับเหมางานโยธาและงานอาณัติสัญญาณฯพร้อมกัน จึงส่งผลทำให้ผู้รับเหมางานโยธาขาดข้อมูลในงานที่เกี่ยวกับการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ และเป็นเหตุให้ผู้รับเหมางานโยธาขอขยายเวลาการก่อสร้าง อีกทั้งส่งผลให้การเปิดให้บริการเดินรถต่อประชาชนล่าช้าออกไป เพราะต้องรอจนกว่าผู้รับเหมางานอาณัติสัญญาณฯ ทำงานแล้วเสร็จ ซึ่งทำให้รัฐเสียประโยชน์ส่วนเรื่องการแบ่งสัญญาโครงการสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็น 3 สัญญานั้น จากประสบการณ์การดำเนินโครงการในอดีตที่ผ่านมาเห็นว่าการแบ่งน้อยสัญญามีข้อดีมากกว่าการแบ่งเป็นสัญญาย่อยจำนวนมาก
ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ด้านบริหารสัญญา การแบ่งสัญญาออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญาทำให้การบริหารจัดการโครงการ
จะเกิดความทับซ้อน เช่น
- การขออนุมัติทำงานต้องเสนอทุกสัญญา ได้แก่ การขออนุมัติแผนงานก่อสร้าง, การประกันภัยในงาน, วัสดุและฝีมือการทํางาน, เครื่องจักรก่อสร้าง อุปกรณ์ของผู้รับจ้าง งานชั่วคราว, สำนักงานสนาม, ที่พักบริเวณหน้างาน, Organization Chart and CVs , Geotechnical Investigation Report, Survey Report, Testing Lab, Quality Control Programme, การประสานงานกับส่วนราชการและผู้รับจ้างรายอื่น เป็นต้น
- การควบคุมงาน อาจมีการวินิจฉัยสัญญาแตกต่างกันในหัวข้อการพิจารณาเดียวกัน
- การบริหารวัสดุก่อสร้างในสัญญาที่กำหนดให้ใช้วัสดุที่ได้จากการขุดมาใช้เป็นวัสดุถม การแบ่งหลายสัญญาอาจทำให้ไม่มีงานขุดกับงานถมอยู่ในสัญญาเดียวกัน แต่ถ้าเป็นสัญญาขนาดใหญ่ซึ่งมีงานขุดและงานถมอยู่ในสัญญาเดียวกันก็สามารถนำวัสดุงานขุดไปใช้เป็นวัสดุงานถมได้ ทำให้ประหยัดงบประมาณค่าก่อสร้าง
2. ด้านงบประมาณ ในกรณีที่แบ่งเป็นสัญญาใหญ่สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ ค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายสำนักงานสนาม ค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมบุคลากรควบคุมงาน ค่าใช้จ่ายเครื่องจักร ยานพาหนะ และค่าใช้จ่ายการจ้างที่ปรึกษา PMC เป็นต้น
ดังนั้น รฟท.จึงเห็นควรแบ่งสัญญาโครงการทางคู่สายเด่นชัยฯ ออกเป็น 3 สัญญารวมงานอาณัติสัญญาณฯ และเสนอกระทรวงคมนาคมเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติโครงการ ครั้งที่ 2 และครม.มีมติอนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 โดยแบ่งเป็น 3 สัญญา ตามที่เคยเสนอ ครม.ในครั้งที่ 1 (เมื่อวันที่ 31 กค. 2561)
อนึ่งการจัดแบ่งงานสายเหนือเป็น 7 สัญญา งานโยธา 6 สัญญา และงานอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา
โดย คกจ. (คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. (ซุปเปอร์บอร์ด) ตามที่ รฟท. เสนอเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 นั้น ยังไม่ได้รายงานผลการพิจารณาแนวทางการดำเนินการแบ่งสัญญาให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแต่อย่างใด เนื่องจากหัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งที่ 9/2562 ส่งผลให้ คกจ. ถูกยกเลิกไปด้วย
การรถไฟฯ จึงขอเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่า การดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของนี้มีความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบการดำเนินการอย่างเปิดเผยในทุกขั้นตอน และเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ และข้อกฎหมายทุกประการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง