ที่ผ่านมาจะพบว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยเริ่มเห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน ตามเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นประเด็นท้าทายของการพัฒนาที่จะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าที่พึ่งพาทางถนนเป็นหลักไปใช้การขนส่งหลักและการเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันหลายโครงการลงทุนในทุกๆ ปี เพื่อให้เกิดการคมนาคมขนส่งที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งการยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการขนาดใหญ่ ระยะเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2564 ที่กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันจากแผนปฏิบัติการ ปี 2560-2563 โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปีนี้ จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างงานโยธาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 19,700 ล้านบาท 2. โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 899 ล้านบาท
3.โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน วงเงิน 460 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท วงเงินรวม 59,059 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างงานโยธาทาง หลวงพิเศษระหว่างเมืองทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 19,700 ล้านบาท กรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ศึกษาความเหมาะสมและรายงานประเมินผลกระทบกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยสผ.พิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จ ขณะนี้เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อก่อสร้างงานโยธา ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และประมูลงานระบบและจัดเก็บค่าผ่านทาง (O&M) รูปแบบการลงทุน PPP Gross Cost ภายในเดือนสิงหาคม 2564 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ เปิดให้บริการปี 2567
ทางด้านโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 899 ล้านบาท และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 460 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด พีพีพี) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา ทอท.ได้เสนอรายงานการเปลี่ยนแปลงด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใหม่ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา เสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาภายในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนกรากฎาคม 2564 เปิดประมูลโครงการฯ ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 คาดได้ตัวผู้รับจ้างไม่เกินสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ทันที โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และเปิดให้บริการในปี 2567
ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่ากระทรวงคมนาคมจะสามารถผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หากดำเนินการได้จะทำให้ระบบคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในอนาคต
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564