นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ต่อผลการศึกษาเบื้องต้น เรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา ระหว่างวันที่ 14-29 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งกรมฯ มอบบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการศึกษา ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า หากทั้งสองฝ่ายลดภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้าลง 50-100% จะทำให้เศรษฐกิจไทย (GDP) เพิ่มขึ้น 7,968 - 12,416 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 36,288 - 77,184 ล้านบาท และการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น 7,808-16,416 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าขยายตัว
เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือและเครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าจากแคนาดาจะเพิ่มขึ้น 7,456-15,840 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ธัญพืชปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ ไม้แปรรูป เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นว่า แม้แคนาดาจะมีประชากรเพียง 38 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ขณะที่จำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาของประชากรจากภูมิภาคอื่น รวมทั้งจากภูมิภาคเอเชีย แคนาดาจึงเป็นตลาดแห่งการบริโภค และมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น การทำ FTA ฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดแคนาดาแล้ว ไทยยังสามารถใช้แคนาดาเป็นประตูในการ กระจายสินค้าไปสู่ตลาดสหรัฐฯ และเม็กซิโก ซึ่งแคนาดามี FTA ด้วย แต่ไทยยังไม่มี ขณะเดียวกัน การเปิดตลาดให้กับสินค้าจากแคนาดาจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและลดต้นทุนให้ผู้นำเข้าสินค้าวัตถุดิบของไทย
นอกจากประโยชน์ด้านการค้าสินค้าแล้ว ภาคบริการของไทยก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบอาชีพพ่อครัวและแม่ครัว บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งแคนาดามองว่าไทยมีศักยภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น และมีบริการด้านสุขภาพในระดับโลก สำหรับด้านการลงทุน คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น พลังงาน ขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาที่แคนาดามีศักยภาพ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการของไทยจะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การทำ FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูง ถือเป็นความท้าทายของไทยที่ต้องเตรียมความพร้อมในประเด็นต่างๆ เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าปศุสัตว์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น รวมทั้งต้องใช้ความรอบคอบในการเจรจา ทั้งนี้ การเจรจาในกรอบอาเซียนน่าจะช่วยให้ไทยมีแนวร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม และความคาดหวังใกล้เคียงกัน สำหรับขั้นตอนต่อไป เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว จะนำผลการศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ทางเว็บไชต์
กรมฯ www.dtn.go.th รวมทั้งจะจัดประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำกรอบเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณา เพื่อให้ไทยสามารถร่วมกับอาเซียนอื่น ตัดสินใจเรื่องการเปิดเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ต่อไป