จี้คมนาคม เคลียร์ปมสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว-ประมูลสายสีส้ม

02 ก.ค. 2564 | 04:18 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 11:32 น.

วอนคมนาคม แก้ปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้ม หลังกรุงเทพธนาคมซัดประมูลสายสีส้มส่อฮั้วประมูล เหตุขึ้นศาลฯ เพียบ กระทบโครงการฯ ล่าช้า หวั่นเสียค่าโง่

ยังเป็นประเด็นร้อนกับเรื่องของสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) และกระทรวงมหาดไทย ที่นำเสนอแนวทางสางปัญหาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ต่อขยายสัมปทาน 30 ปีให้แก่ บมจ.บีทีเอส (BTS) เพื่อแลกกับหนี้ค้างร่วมแสนล้านที่ กทม.ไม่สามารถจะแบกรับภาระเองได้ แต่แนวทางดังกล่าวต้องค้างติ่งคาราคาซังมากว่าขวบปี เพราะถูกกระทรวงคมนาคมคัดค้าน โดยระบุว่า อัตราค่าโดยสารที่กำหนดเอาไว้ตามร่างสัญญาใหม่ที่ 65 บาทตลอดสายนั้นสูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนกรุงผู้ใช้บริการ พร้อมตั้งคำถามถึงความถูกต้องตามครรลองแห่งกฎหมาย และวินัยการเงินการคลัง
         

 

 ล่าสุดรมว.กระทรวงคมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์ หลังมีข่าวว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมเร่งพิจารณาร่วมกับ กทม.เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วว่า จะมีการหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานครในเร็วๆ นี้ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมกับระบุว่า จุดยืนของกระทรวงคมนาคมนั้น ยังคงยืนยันว่า ต้องทำแล้วถูกกฎหมาย และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 
          

 

ส่วนจะหารือเมื่อใดนั้น คงต้องรอข้อมูลข้อทักท้วง 4 ข้อที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตไปก่อนหน้าส่งมาถึงกระทรวงก่อน เมื่อได้รับข้อมูลแล้วจะรีบดำเนินการหารือร่วมกันต่อไป ถ้ายึดระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชื่อว่าทุกอย่างจะเดินหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงใน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของ กทม.ที่ทำหน้าที่บริหารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า น่าแปลกใจที่ กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า ยึดหลักกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นหลักในการพิจารณา เพราะหากกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า ยึดหลักกฎหมายและมติ ครม.เป็นหลักในการดำเนินโครงการแล้ว เหตุใดในส่วนของการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เงินลงทุน 1.427 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กระทรวงคมนาคมถึงปล่อยให้ รฟม. แหกกดบัตรกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่วางไว้ จนทำเอาเส้นทางการประมูลโครงการต้องล้มลุกคลุกคลานมากว่าขวบปี

 

 

แหล่งข่าว กล่าวว่า การที่บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลร้อง ถึงการประมูลที่ไม่โปร่งใส และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จนกระทั่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และสั่งให้ รฟม.ชะลอการนำเอาหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหามาบังคับใช้ แต่ รฟม.ก็ยังคงจะเดินหน้าจัดประมูลต่อไป จนกระทั่งถูกฟ้องต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบอีกคดี และยังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) มีมติให้ส่งรายงานผลการสอบสวนโครงการนี้ไปยังคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดผู้บริหารรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกราวรูดนั้น สิ่งเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนให้เห็นว่า มีการดำเนินการที่ขัดบทบัญญัติแห่งกฎหมายและ มติ ครม.อีกหรือ
 

สิ่งที่ฝ่ายบริหารรฟม.ดำเนินการไปโดยที่กระทรวงคมนาคมต้นสังกัดไม่ได้มีการท้วงติง หรือระงับดำเนินการใดๆ จนกระทั่งทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเผชิญทางตันอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศชาติต้องเสียหาย ประชาชนผู้ใช้บริการต้องสูญเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้าที่ต้องล่าช้าออกไป 

 


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบให้ทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานรัฐ รวมไปถึงโครงการที่ต้องร่วมลงทุนกับเอกชนตามกฎหมายอื่น ต้องทำข้อตกลงคุณธรรม เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบป้องกันการทุจริตและเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ โดยที่ผ่านมามีโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ถือเป็นโครงการแรกที่ถูก คสช.กำหนดให้ต้องดำเนินการลงนามในข้อตกลงคุณธรรมมาตั้งแต่แรก จึงไม่มีปัญหา แต่ในสัดส่วนของโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มนั้น หากกระทรวงคมนาคมยืนยันจะยึดมั่นในหลักกฎหมายและมติ ครม.ก็ต้องนำเอาโครงการนี้เข้าลงนามสัญญาข้อตกลงคุณธรรมเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกด้วย

 

คงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงมาผ่าทางตันโครงการนี้ให้ได้ข้อยุติอย่างไร ก่อนที่จะทำให้โครงการดีๆ ต้องลงเอยด้วยค่าโง่ไปอีกโครงการ