นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงกรณีข้อสังเกตที่ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 2 สาย ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงของ และโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ที่มีการเสนอราคาห่างจากราคากลางไม่มากนั้น เนื่องจากราคากลางจะมีการเปิดเผยให้ทราบโดยทั่วกันอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องของผู้เข้าประมูลที่จะประเมินราคาที่รับได้ และเสนอราคาเพื่อสู้กับราคากับผู้ร่วมประมูลรายอื่นที่เสนอมา ส่วนกรณีประเด็นมีการฮั้วประมูลกันของรายใหญ่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า ผู้เข้าประมูลแต่ละรายมีการพูดคุยกันนอกรอบก่อนเข้าร่วมประมูลหรือไม่ ซึ่งในระบบ e-bidding จะไม่สามารถดูได้ว่ามีใครซื้อซองหรือจะมีใครมาร่วมประมูล
“หากผู้เข้าประมูลรู้กันเอง ก็เป็นเรื่องที่เกินวิสัยที่กรมบัญชีกลางจะไปป้องกันได้ แต่ทุกเรื่องที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หากพบว่าการมีการกระทำที่อาจมิชอบ หรือพบพิรุธ ผู้ร่วมประมูลรายอื่นที่แพ้การประมูล สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ หรือแม้แต่สังคมซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นโครงการของรัฐ เป็นบริการสาธารณะ หากพบว่าการกระทำครั้งนี้อาจมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ ถ้ามีหลักฐาน ก็สามารถยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจในการตรวจสอบได้เช่นกัน เช่น ปปช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบและหากพบพิรุธ ก็สามารถสั่งชะลอโครงการได้ จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีกฎหมายในการกำกับกระบวนการตรวจสอบของแต่ละหน่วยงาน”
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงกรณีการฮั้วประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ว่า ทางรฟท.ได้มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งสัญญา 6+1 ของซูปเปอร์บอร์ด เป็น 3 สัญญา รวมการติดตั้งอาณัติสัญญาณ ตามมติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติรอบแรก เนื่องจากมีประสบ การณ์เปรียบเทียบสัญญาใหญ่รวม SNL ในโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางสายชุมทางจิระ-ชุมทางแก่งคอย โดยมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การเวนคืน และการปรับแบบสถานีบ้านไผ่ที่มีชาวบ้านเรียกร้องมา ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำเร็จเสร็จใกล้เคียงกับเป้าหมายและมีความล่าช้าเพียง 6 เดือน
ขณะที่โครงการทางคู่ ระยะที่ 1 ทั้ง 3 สายทาง แบ่งแยกสัญญา SNL ปัจจุบันพบว่า กำหนดแล้วเสร็จของโครงการจะล่าช้าออกไปมากกว่า 2 ปี เพราะมีความล่าช้าตั้งแต่การประกวดราคา inter bid ของงานระบบอาณัติสัญญาณ และการประสานการทำงาน การส่งต่อข้อมูล การมอบพื้นที่ ระหว่างงานโยธากับ SNL จึงเป็นประสบการณ์ว่าการแบ่งสัญญาใหญ่รวม SNL มีผลกับความสำเร็จในการดำเนินงานมากกว่าการแบ่งเป็นสัญญาย่อย ซึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเกิดการแข่งขันราคาได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งค่าวัสดุเหล็กปรับตัวสูงขึ้นถึง 40% ในการประกวดราคาครั้งนี้
รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวว่า กรณีที่มีการแบ่งเค้กและฮั้วราคา ในส่วนของรฟท. ได้ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบขอบเขตของรฟท. รวมทั้งดำเนินการทุกขั้นตอนของการประกวดราคา ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 สำหรับระบบการประกวดราคาแบบ e-Bidding เป็นระบบที่ได้พัฒนารูปแบบจากการประกวดราคาด้วยวิธีการยื่นซอง เป็นการประกวดราคาแบบ e-Auction จนกระทั่งเป็นการประกวดราคาแบบ e-Bidding ซึ่งถือว่าเป็นระเบียบที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในปัจจุบันของทางราชการ
ขณะเดียวกันในการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย รฟท. ได้ดำเนินการตามนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน โดยกำหนดให้บริษัทที่ยื่นประมูลเป็นคนไทยสามารถยื่นประมูลได้ แต่หากมีการยื่นเป็นชาวต่างชาติต้องมีกลุ่มผู้นำเป็นคนไทย อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างอุโมงค์ต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เพิ่มการแข่งขันของงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย เชียงราย เชียงของ ซึ่งกำหนดให้งานอุโมงค์ผู้ที่จะยื่นประมูลสามารถนำผลงานในไทยหรือใช้ผลงานจากต่างประเทศได้ และหากผู้ร่วมประมูลเป็นต่างชาติก็สามารถเข้าร่วมกับบริษัทของไทยที่มีผลงานทางรถไฟได้
“รฟท.ไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีการมอบหมายให้ที่ปรึกษาการประกวดราคาตรวจสอบยืนยัน ความเหมาะสมของเงื่อนไข และราคากลางของงาน พบว่า ราคากลาง ราคาค่าก่อสร้างทั้ง งานโยธา/งานทางรถไฟ และอาณัติสัญญาณฯ เฉลี่ย ต่อ กม. ของโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และทางคู่สาย บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม มีราคาต่อ กม. ต่ำกว่าโครงการทางคู่ที่ก่อสร้างมาก่อนหน้านี้ทุกสาย และยังพบว่า ราคาค่าก่อสร้างอุโมงค์ ต่อ กม.ของคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ต่ำกว่างานก่อสร้างอุโมงค์ ช่วงมาบกะเบาในทางคู่ ระยะที่ 1 ของสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งๆ ที่สภาพพื้นดินสายเด่นชัยฯ เป็นชั้นหินผุ ซึ่งทำงานยากกว่า จึงพิสูจน์ได้ว่าราคากลางของโครงการทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และทางคู่สาย บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม มีราคาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทางราชการสูงสุด”
สำหรับกรณีที่สังคมตั้งข้อสังเกตถึงพิรุธในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐครั้งนี้ คือ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 678 กม. วงเงินก่อสร้างรวม 127,605.4 ล้านบาท ประกอบด้วย สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท และสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าก่อสร้าง 54,684.40 ล้านบาท โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เป็นเจ้าของโครงการ
อย่างไรก็ตามในการประมูลแบ่งเป็น 5 สัญญา และมีผู้รับเหมาขนาดใหญ่เข้าประมูล 5 ราย และชนะการประมูลทุกราย จึงเป็นข้อพิรุธ ซึ่งอาจเป็นการสมรู้ร่วมคิด ล็อกสเปก ฮั้วประมูล อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูล แม้ทางผู้ว่า รฟท.จะออกมาปฏิเสธแล้วว่าการประมูลโปร่งใสก็ตาม ทั้งนี้ รฟท. จะประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะมีการลงนามสัญญาภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี และเปิดให้บริการได้ในปี 2571
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564