ไขข้อข้องใจ ทำไม กทพ.ประมูลทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง รอบใหม่

04 ก.ค. 2564 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2564 | 19:07 น.

กทพ.ลุยเปิดขายซองประมูลทางด่วนพระราม 3 หลังล้มประมูลขายซองรอบแรก เผยเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ส.ค.นี้ ยันปรับเพิ่มราคากลาง 300 ล้านบาท จากราคากลาง เหตุต้นทุนเหล็กพุ่งสูง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างเปิดขายซองประกวดราคาโครงการดังกล่าว ในส่วนของสัญญา 1 และสัญญา 3 หลังจากที่ยกเลิกการประกวดราคาออกไปเมื่อปี 2563 โดยจะเปิดขายซองจนถึงวันที่ 30 ก.ค.นี้ และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 2 ส.ค.2564 

 


สำหรับโครงการทางพิเศษสายดังกล่าว ส่วนของสัญญาที่ 1 งานสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร (กม.) กทพ.ได้กำหนดราคากลางของงานก่อสร้างในการประกวดราคาครั้งนี้เป็นเงิน 7.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากราคากลางเดิมอยู่ที่ 6.97 พันล้านบาท เช่นเดียวกับสัญญา 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9 - ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม.กำหนดราคากลางของการประกวดราคาครั้งนี้ 7.37 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนด 6.99 พันล้านบาท

 


“กทพ.ยืนยันว่าการปรับเพิ่มของราคากลางที่เกิดขึ้น ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 300 ล้านบาท หรือประมาณ 3% ของราคากลางเดิม เป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องปรับราคากลางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย กทพ.จะดำเนินการประกวดราคาโครงการนี้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เปิดให้รับเหมาไทยและต่างชาติร่วมแข่งขัน และมั่นใจว่าข้อเสนอของเอกชนจะสะท้อนกับต้นทุนความเป็นจริง”
 

ขณะเดียวกันข้อกำหนดด้านคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอของการประกวดราคาครั้งนี้ กทพ.ยังมีการกำหนดคณสมบัติและผลงานอย่างชัดเจน อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนงานก่อสร้างสาขางานก่อสร้างทางและสะพานพิเศษไม่น้อยกว่าชั้นพิเศษ ประเภทหลักเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไป คุณสมบัติเฉพาะ และคุมสมบัติเฉพาะอื่นๆ ไว้กับกรมบัญชีกลางโดยหากเป็นผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว จะต้องมีผลงานในการก่อสร้างงานในประเภทเดียวกับงานที่จะจ้างโดยเป็นงานสะพาน หรือทางยกระดับ หรือทางแยกต่างระดับ หรือทางหลวงที่มีสะพาน โดยสะพานที่ก่อสร้างต้องมีความยาวช่วงสะพานอย่างน้อย 30 เมตร ซึ่งเป็นค่างานเฉพาะโครงสร้างคานคอนกรีตรูปกล่องไม่น้อยกว่า 1.4 พันล้านบาท

 


ส่วนผู้ยื่นข้อเสอในรูปแบบกิจการร่วมค้า ต้องใช้ผลงานของผู้ร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่ยื่นข้อเสนอ และในส่วนของผู้ร่วมค้า (Member) จะต้องมีประสบการณ์ทำงานสะพาน หรือทางยกระดับ หรือทางแยกต่างระดับ หรือทางหลวงที่มีสะพาน ความยาวอย่างน้อย 30 เมตร เป็นโครงสร้างคานคอนกรีตรูปกล่องไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท
 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การประมูลสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ครั้งนี้ กทพ.ปรับปรุงราคากลางให้เป็นไปตามราคาต้นทุนปัจจุบัน ที่พบว่าราคาค่าวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอให้ชัดเจน ผู้ยื่นจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการงานก่อสร้าง สาขางานก่อสร้างทางและสะพานพิเศษ ไว้กับกรมบัญชีกลาง และต้องมีผลงานสร้างคอนกรีตรูปกล่อง 1.4 พันล้านบาท ประเด็นนี้จะทำให้ไม่เกิดกรณีเสนอราคาต่ำและคุณสมบัติไม่เหมาะสมอีก

 

 

ทั้งนี้สาเหตุที่งานโยธาสัญญา 1 และสัญญา 3 ล่าช้าจากแผน เนื่องจากมีการยกเลิกผลการประกวดราคาไปเมื่อปีก่อน ขณะที่งานโยธาสัญญา 2 และสัญญา 4 เริ่มดำเนินการก่อสร้างและเร็วกว่าแผนอย่างต่อเนื่อง กทพ.จึงมีการกำหนดระยะเวลาก่อสร้างของการประกวดราคาครั้งนี้ให้เร็วขึ้นเหลือ 1,020 วัน หรือราว 34 เดือน จากการประมูลครั้งที่แล้ว กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน เพื่อเร่งงานให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 6 เดือน ทันต่อการเปิดให้บริการใกล้เคียงกับอีก 2 สัญญาที่ดำเนินการก่อสร้างแล้ว