วันที่ 10 ก.ค.2564 ที่วัดพลแพน นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แถลงการจัดเทศกาล "ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" ปี 2564 ว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน 120 ปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้ม การแพร่ระบาดสูงขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ยังวิตกกังวล จังหวัดฯ จึงได้งดกิจกรรม on-site ที่เป็นจุดเสี่ยงไปแล้ว ถึง 7 กิจกรรมเสี่ยง ดังนี้
1. เทศกาลอาหารอินโดจีน 2. ตลาดย้อนยุค 3. เทียนอุบลอยู่ได้ตลอดเดือน 4. ไม่มีการออกร้านหรือร้านค้าจำหน่ายในทุ่งศรีเมือง หรือบริเวณโดยรอบทุ่งศรีเมือง 5. ไม่มีการจำหน่ายบัตรเข้าชมหรือบัตรเชิญเข้าชม 6. ไม่มีพิธีเปิดงาน 7. การงดให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าร่วมเทศกาลเทียนพรรษา
นายเกริกชัยกล่าวอีกว่า ครั้งนี้ยังคงมีกิจกรรมที่สำคัญไว้ 3 ส่วน ดังนี้
ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง ได้แก่การประดิษฐานเทียนพรรษาพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริเวณด้านหน้าจตุรมุข
ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดเดียวของไทย ที่ได้เข้าเฝ้ารับเทียนพระราชทาน มาเป็นเทียนชัยมิ่งมงคลในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 42
กิจกรรมทุ่งดอกเทียน เป็นการประดับตกแต่งพื้นที่การจัดงานบริเวณ ด้านหน้าเทียนเฉลิมพระเกียรติ ด้วยต้นดอกผึ้ง โดยชาวอีสานในอดีตจัดทำขึ้นโดยนำขี้ผึ้งมาต้มเพื่อทำเป็นดอกผึ้ง แล้วนำมาติดผ่านไม้ไผ่ ถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเข้าพรรษา หรือวันสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิม ก่อนที่จะมาเป็นทำเทียนพรรษาในรูปแบบปัจจุบัน
กิจกรรมลานเทียน เป็นการจัดแสดงต้นเทียนโบราณแกะสลักติดพิมพ์ จำนวน 11 ต้นของคุ้มวัด ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 120
ถนนสายเทียนสายธรรม เป็นการสาธิตการจัดทำเทียน ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และงานสุดยอดช่างเทียน ของเมืองอุบลฯ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลงานแกะเทียน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
และการแสดงวัฒนธรรมเป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอ และจังหวัด บนเวที 360 องศาไม่มีที่นั่งชม เน้นการถ่ายทอดสดและถ่ายทอดสด ออนไลน์
รองผู้ว่าฯกล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ยังจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมอัตลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีสำคัญและโดดเด่น ได้แก่ นิทรรศการเทียนพรรษาอุบลฯ ภาพเมืองอุบลราชธานี ใบลานสำคัญเมืองอุบลฯ สถาปัตยกรรมที่เก่าของเมืองอุบลราชธานี ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จ.อุบลฯ
สำหรับที่วัดมหาวนาราม จัดแสดงต้นเทียน 1 ต้น มีเวียนเทียนแบบ New Normal ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 และถวายเทียนพรรษาพระราชทาน และถวายผ้าอาบน้ำฝน พระราชทานให้สมเกียรติ มีต้นเทียนโบราณ 1 ต้น ต้นเทียนแกะสลัก 1 ต้น ต้นเทียนติดพิมพ์ 1 ต้น เคลื่อน ตามไปยังวัดมหาวนารามเพื่อรักษา อัตลักษณ์มรดก อันล้ำค่าให้คงอยู่สืบไป
สำหรับมาตรการป้องกันโควิด-19 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดระบบการคัดกรองด้วย LINE Map เป็นการคำนวณพื้นที่การจัดงาน และจำนวนคนที่เข้ามาร่วมงาน
โดยให้มีการจองผ่านระบบ QR Code และการ walk in หมุนเวียน จำกัดคนไม่เกิน 500 คน กำหนด ทางเข้าออกเพียง 2 ประตูด้าน ศาลแขวงและศาลหลักเมือง จัดระบบคัดกรอง เข้าออก ตลอดระยะเวลาการจัดงาน
จัดชุดเคลื่อนที่เร็วผู้ร่วมงาน ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์การเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมมีการ ทำทางเข้าออกทางเดียวจำกัดจำนวนผู้เข้าชม เพื่อให้มีระยะห่างตามมาตรการโดยเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขอความร่วมมือประชาชนกักตัวที่บ้าน ไม่สามารถไปไหนได้ วิกฤตเป็นโอกาส สร้างสุขทางใจ จึงเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก ภายใต้ สโลแกน" ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" ผ่านออนไลน์ชมได้ทั่วโลก
ไลฟ์สดผ่านเพจรวมการเฉพาะกิจ 12 คุ้มวัด และภายในบริเวณทุ่งศรีเมือง เพื่อเพิ่มช่องทาง ผ่านสื่อออนไลน์ อยู่ไหนๆ ยลเทียนพรรษา online ได้ถึงบ้าน ผ่านแอพ “น้องเทียนธรรม” เพจภาครัฐภาคเอกชน อาทิ เพจน้องเทียนธรรม เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดอุบลราชธานี สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 เพจประเทศอุบล วารินบ้านเฮา RTV Cable และเว็บไซต์ อุบล Daily เว็บไซต์ไกด์อุบล.คอม
สามารถติดตามชม ผ่านไลฟ์สดได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป วันที่ 11- 21 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป วันที่ 22-28 กรกฎาคม เวลา 16.00 น. และเวลา 18.00 น. อยู่ไหนก็ชมได้ทั่วโลก สามารถชุมชนออนไลน์ เที่ยวทิพย์ เซลฟี่ออนไลน์ การประกวดถ่ายภาพออนไลน์ มาสคอส “น้องเทียนธรรม-น้องเทียนหอม” นำเที่ยวผ่านออนไลน์ และขายสินค้าส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านออนไลน์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
ขณะที่ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีบางกลุ่ม ไม่เห็นด้วยกับการจัดงานในครั้งนี้ โดยมีความกังวลว่าจะเป็นจุดเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด -19 ถึงแม้ทางจังหวัดจะมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดก็ตาม โดยการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดงานครั้งนี้ผ่านทางสื่อโซเชี่ยลต่าง ๆ ภายหลังจากผลการประชุมของคณะกรรมการ มีมติเห็นชอบในการจัดงานครั้งนี้ประกาศออกมา
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า คณะกรรมการจัดงานเทศกาลเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2564 "ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" โดยมุ่งเน้นผ่านระบบ online ห่างไกล COVID -19
เพื่อสืบทอดประเพณีถวายเทียนพรรษา เป็นพุทธบูชาให้อยู่คู่เมืองอุบลราชธานีสืบไป และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ยืนยันกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 -28 กรกฎาคม 2564 ณ บริเวณทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี
ซึ่งทุกกิจกรรมดำเนินการภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ทั้งการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยหน้ากากผ้าตลอดเวลาร่วมงาน เว้นระยะห่าง กำหนดเส้นทางเข้าออกทางเดียว จำกัดจำนวนโดยต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยทุกกิจกรรมสามารถจะให้ชมทางระบบ online ผ่านทางสื่อโซเชี่ยลต่าง ๆ จากทุกพื้นที่ทั่วโลก