โต้เดือด  “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” อย่าโยนบาปให้พ่อค้าคนกลาง

13 ก.ค. 2564 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 15:20 น.

สงครามเดือด “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” สมาคมการค้าพืชไร่ โต้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ อย่าโยนบาปให้พ่อค้าคนกลาง ใครกันแน่ คือต้นเหตุ พร้อมย้อนปมประวัติศาสตร์ แต่ละช่วงที่เกิดขึ้น จนล่าสุดต้องโดดปกป้องอาชีพ-เกษตรกร ผวาสูญพันธ์ุ เล่นใหญ่ ร้องลดภาษีธัญพืชนอก0% ใครจะยอม

สมาคมการค้าพืชไร่  ออกบทความ โต้แย้ง บทความ “ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตีแผ่ข้อเท็จจริง ข้าวโพดอาหารสัตว์ ที่คนไทยควรรู้” เป็นการโยนบาปให้พ่อค้าคนกลาง ทั้งที่มีเรื่องคนไทยควรรู้มากกว่าคือ ถ้ามองรอบด้าน มาตรการที่ออกมา ล้วนเป็นการปกป้องการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนภาษี 0% ของกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์รายใหญ่เป็นหลัก เพราะไม่เพียงกระทบต่อเกษตรกรไทยผู้ปลูกพืชวัตถุดิบ

 

แต่การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แบบปลอดภาษียังสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดภายในประเทศให้กับกลุ่มธุรกิจใหญ่ ทำร้ายผู้ผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์ขนาดกลางและเล็กให้มีศักยภาพการแข่งขันลดลง ซึ่งมีโอกาสทำให้ธุรกิจขนาดกลางและรายย่อยต้องค่อย ๆ เลิกไปจากธุรกิจ ทั้งยิ่งเปิดโอกาสการสร้างอำนาจผูกขาดในการกำหนดราคาเงื่อนไขกลไกทางการค้าในห่วงโซ่เนื้อสัตว์ทั้งระบบ (วัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และเนื้อสัตว์) ให้กับกลุ่มธุรกิจใหญ่ไม่กี่ราย แย้งกับการให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์ เป็นประเด็นดังนี้

 

  1. อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ปลอยให้มีการส่งออกวัตถุดิบเสรี แต่ควบคุมการนำเข้า

ข้อเท็จจริง : ก่อนปี 2556 ได้มีการขอลดอากรนำเข้าธัญพืชอาหารสัตว์ทดแทนหลายรายการจากกลุ่มธุรกิจ โดยน่าจะมีทีมงานกลุ่มผลประโยชน์ล๊อบบี้เพื่อการลดภาษีนำเข้าอย่างเป็นระบบจนมีนโยบายลดภาษีนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์เหลือ0% และภาษีนำเข้าธัญพืชอื่น ๆ ลดลงในระดับต่ำมาก ทำให้กลุ่มผู้นำเข้าได้ผลประโยชน์นั้นโดยตรงเร่งนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นนับจากปีนั้น

 

จนกระทบถึงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยอย่างรุนแรงในปี 2559 และการลดอากรนำเข้าดังกล่าวสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในประเทศให้กับกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ แต่ยิ่งกลับทำร้ายลดศักยภาพการแข่งขันในการขายอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ในประเทศของผู้ผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์รายย่อย ทั้งที่สัดส่วนปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศมากกว่าปริมาณการส่งออก

 

  1. มีการประกันรายได้ถึง 2 ชั้น เอื้อพ่อค้าคนกลาง

ข้อเท็จจริงที่มาของมาตรการ ช่วงฤดูกาล 2559/60 มีการนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์ราคาถูกเข้ามาใช้และทุ่มแย่งตลาดเกษตรไทยเพิ่มมากถึง 3.4 ล้านตันจนกระทบต่อตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยอย่างรุนแรง และเกิดอุปสรรคในระบบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอย่างหนัก จนทำให้เกษตรกรต้องออกมาเรียกร้องจนรัฐบาลต้องขอร้องให้กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซื้อข้าวโพดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในราคากิโลกรัมละ 8 บาท

 

ต่อจากนั้นก็ออกมาตรการ 3:1 ออกมาเพื่อปกป้องเกษตรกรไทย หลังจากนั้นกลุ่มผลประโยชน์ก็มีการนำเข้ากากข้าวโพด (DDGS ขยะอุตสาหกรรมเอทานอล) และข้าวบาร์เลย์ เข้ามามากขึ้นเพื่อเลี่ยงมาตรการ 3:1จนทำให้วัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2563 มีมากกว่าปริมาณที่อ้างว่าต้องการใช้ ไม่ใช่เพราะการมองแต่ผลประโยชน์ทั้งในและนอกระบบมากเกินไปหรือไม่

 

จึงต้องทำให้รัฐต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องเกษตรกร ส่วนการประกันรายได้เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อช่วยเหลือปกป้องเกษตรกรอีกชั้นเนื่องจากต้นทุนข้างโพดต่อกิโลกรัมเกษตรกรสูงถึง 7.39 บาทต่อกิโลกรัม (ผลผลิตเฉลี่ย 704 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนผลิต 5,200 บาท/ไร่) พ่อค้าคนกลางได้ผลประโยชน์ตรงจุดไหน

 

  1. ว่านโยบายภาครัฐ ปล่อยให้มีการส่งออกวัตถุดิบเสรี แต่ควบคุมการนำเข้า กระทบต่ออุตสาหกรรม

ข้อเท็จจริง ก่อนนี้มีการอ้างว่าธัญพืชวัตถุดิบไทยไม่พอใช้ ดังนั้นไม่ควรนำมาประเด็นนี้มาอ้าง เพราะจะไม่เหลือส่งออก รวมถึงความเป็นจริงธัญพืชวัตถุดิบไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะขาดการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการปลูกพืชวัตถุดิบไทยอย่างจริงจัง การที่ภาครัฐควบคุมการนำเข้าเพื่อปกป้องเกษตรกรคนไทยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 

ลืมไปแล้วหรือว่า "เกษตรกรคนไทย" ก็คือคนชาติเดียวกัน และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทสมาชิกในสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ นอกจากนี้ภาครัฐก็ยังมีการปกป้องธุรกิจเลี้ยงสัตว์ไทยอย่างเข้มข้นอาจจะเข้มข้นกว่าการปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกธัญพืชวัตถุดิบไทยด้วยซ้ำ หรือผู้ให้ข่าวของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เห็นว่าการปกป้องเพื่อผลประโยชน์คนไทยส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง

 

  1. ผู้ผลิตทำตามนโยบายรัฐบาล รับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองทุกเมล็ดในราคา 19.75 บาท

ข้อเท็จจริง  อดีต "ถั่วเหลือง" เป็นอาชีพทางเลือกหนึ่งในการปลูกพืชไร่ แต่ปัจจุบันการปลูกถั่วเหลืองอาหารสัตว์เลิกไปในหลายจังหวัดเหลือน้อยมาก การทวงบุญคุณอ้างทำตามนโยบายแลกกับการที่ภาครัฐยอมลดภาษีข้าวสาลี0 เปอร์เซ็นต์และธัญพืชอาหารสัตว์อื่นต่ำลงมากยังไม่คุ้มค่าทางธุรกิจอีกหรือ หรืออยากจะให้เกษตรกรต้องเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เหลือปริมาณเท่ากับการปลูกถั่วเหลือง

 

แถมที่ผ่านมาก็มีความพยายามเสนอขอลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 29 ชนิดให้เหลือ 0% ซึ่งมีกากถั่วเหลืองอีกซึ่งเป็นการเพิ่มความได้เปรียบให้กับธุรกิจอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สามารถนำเข้าวัตถุดิบต่างชาติเอง โดยรายกลางและเล็กต้องซื้อต่อหรือนำเข้าเองก็ต้นทุน สูงกว่าทำให้การผลิตอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์รายกลางรายเล็กสู้กลุ่มธุรกิจทุนรายใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่รายไม่ได้ ต้องขอขอบคุณโรงงานน้ำมันพืชด้วยที่ช่วยซื้อถั่วเหลืองในประเทศถึงประมาณ 80% เหลือไว้ให้กลุ่มอาหารสัตว์ช่วยเพียง 20%

 

  1. มาตรการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ต่ำกว่า 8 บาท การจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน ทำให้ราคาข้าวโพดไทยสูงกวาราคาตลาดโลกมาตลอด จึงกล่าวได้ว่า ราคาข้าวโพดไทยไม่เคยอิงราคาตลาดโลก

ข้อเท็จจริง ถูกต้องแล้วเพราะอำนาจการกำหนดราคาและเงื่อนไขการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยอยู่ที่ผู้ซื้อใช้ปลายทางที่เป็นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ยิ่งมีการนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์ กากข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์อาหารสัตว์เข้ามารวมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากเมียนมา ลาว เขมร และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยทำให้วัตถุดิบมีใช้อย่างเพียงพอ หรือบางช่วงเข้ามาจนทำให้เกินปริมาณความต้องการ ยิ่งทำให้อำนาจการกำหนดราคาและเงื่อนไขการซื้อเป็นของกลุ่มผู้ซื้อใช้รายใหญ่เพียงไม่กี่รายมากขึ้น

  1. ประกันราคาข้าวโพด 2 ชั้น ใครได้ประโยชน์

ข้อเท็จจริง ถ้ามองเชิงลึกรอบด้านการลดภาษีแล้วมาประกันราคาข้าวโพด 2 ชั้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์จากการลดภาษีอากรนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนมากกว่า เพราะมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องเกษตรกรไทยที่เกิดขึ้น สาเหตุเกิดจากกลุ่มผลประโยชน์ขอลดภาษีอากรนำเข้าธัญพืชวัตถุดิบ ทำให้มีการนำเข้ามาจนมีผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ไม่ใช้เกิดจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ถ้าหากภาครัฐไม่มีการลดภาษีนำเข้าธัญพืชอาหารสัตว์ ทำให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์มาใช้ข้าวเปลือกไทย ทดแทนข้าวสาลีและข้าบาร์เลย์อาหารสัตว์ทั้งเปลือก

 

ร่วมกับการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังไทย เกษตรกรไทยจะกินดีอยู่ดีมีกำลังซื้อก่อให้เกิดการกระจายรายได้การหมุนทางเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากโควิด-19 ก็จะไม่รุนแรงเท่านี้ แถมรัฐบาลแทบไม่ต้องมาใช้เงินอุดหนุนช่วยเกษตรกร  ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์เต็มไปด้วยคนมีความรู้ คนเก่งที่สามารถปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้แข่งขันอยู่รอดมีกำไรได้อยู่แล้ว ประชาชนคนไทยรู้หรือไม่ว่าปัจจุบันกินเนื้อสัตว์ไทยที่ปลนเปื้อนวัตถุดิบต่างชาติถึง 60% (จากการให้ข้อมูลของนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ว่าพึ่งวัตถุดิบต่างชาติ 60%)   

 

  1. พ่อค้าคนกลางซื้อข้าวโพดที่ต่ำลงเพราะมีการประกันรายได้

ข้อเท็จจริง ปัจจุบันมีพ่อค้ารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายเดิมและเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากทำให้เกิดการแข่งขันการรับซื้อสูง ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกร บางช่วงแข่งกันซื้อแพงกว่าหน้าโรงงานอาหารสัตว์บางแห่งด้วยซ้ำ กลุ่มพ่อค้าคนกลางไม่สนใจหลอกว่ารัฐจะมีประกันรายได้หรือไม่ เขาอิงราคาจากโรงงานอาหารสัตว์เท่านั้น อย่าลืมว่าอำนาจกำหนดราคารับซื้อปลายทางคือใคร สำหรับ ที่สมาคมอาหารสัตว์นำเสนอราคาการรับซื้อของกลุ่มพ่อค้าคนกลาง เหมือนพ่อค้าคนกลางกำไรดีมากน่าจะเป็นข้อมูลราคาจากภาครัฐเพื่ออยากช่วยเหลือเกษตรกรเพราะต้นทุนผลผลิตของเกษตรกรสูงจริง ถ้าพ่อค้าคนกลางกำไรดีกดราคาขนาดนั้น เกษตรกรก็คงไปขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์โดยตรงแล้วเพราะปัจจุบันโรงงานอาหารสัตว์ก็เปิดรับซื้อโดยตรงกับเกษตรกรด้วย

 

ทั้งยังมีการมาตั้งจุดรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วยและก็ไม่ได้ตั้งราคาซื้อสูงกว่าการรับซื้อของพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ ภาพในละครมักชอบโยนบาปให้พ่อค้าคนกลาง ไม่คิดเลยว่าผู้ให้ข่าวจะโยนบาปเพื่อภาพที่ดีของกลุ่มตนเองทั้งที่กลุ่มตนมีโอกาสได้ผลประโยชน์ทั้งในและนอกระบบจากการนำเข้าธัญญพืชทดแทนสูงจนสร้างความร่ำรวยได้ อย่าคิดแต่สร้างกำไรและความร่ำรวยให้กลุ่มตนแล้วทำร้ายเกษตรกรไทย เลยความจริงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 64 เป็นต้นมาข้าวโพดที่ไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดนำเข้าจากประเทศเมียนมา มากกว่าจากเกษตรกรไทย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้าจากพม่า ลาว และเขมร ก็นำเข้ามารวมอยู่ในมาตรการซื้อข้าวสาลี 3:1 กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นมาในช่วงนี้

 

เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะเห็นว่าข้าวโพดฯ เมียนมาเริ่มลดลง และในสต๊อกพ่อค้าส่วนใหญ่เหลือน้อยมาก ส่วนที่มีอยู่ก็เก็บไว้ก็เพื่อรอส่งมอบให้กับข้อตกลงที่ขายล่วงหน้าไว้ ดังนั้นการขึ้นราคาปัจจุบันจึงเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่มากกว่าเพราะอาจจะขอ ขึ้นราคาอาหารสัตว์ได้ พอข้าวโพดในประเทศแพงขึ้นถือโอกาสขายข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด(DDGS) และวัตถุดิบทดแทนอื่น ๆ ให้กับโรงงานอาหารสัตว์  โรงงานอาหารสัตว์ระดับกลางหรือเล็กที่ไม่สามารถนำเข้าเองได้

 

การที่ สมาคมการค้าพืชไร่ เรียกร้องเพราะต้องการให้ราคาข้าวโพดในช่วงที่เกษตรกรออกในฤดูกาลต่อไปไม่ถูกกดราคาจากผู้กำหนดราคาและเงื่อนไขทางการค้า ไม่ได้ต้องการให้ราคาสูงในช่วงที่เกษตรกรไม่มีข้าวโพดขาย ทำแบบนี้พ่อค้าคนกลางยอมเสียผลประโยชน์ด้วยซ้ำธุรกิจไทยไม่ว่าใหญ่ กลาง หรือเล็ก ล้วนต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาสังคม ดังนั้นการทำธุรกิจควรมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ ไม่ทำร้ายทำลายโอกาสการกระจายอาชีพและรายได้ ความกินดีอยู่ดีของคนในสังคมไทย

 

เปรียบเทียบราคาข้าวโพดอาหารสัตว์