บิ๊ก สทนช.ทิ้งทวน ดันแล้วโปรเจ็กต์ 5 แสนล้าน พร้อมส่งไม้ต่อเลขาฯใหม่

17 ก.ค. 2564 | 06:11 น.

“สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.คนแรก ระบุช่วง 3-4 ปีที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจ ได้ผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ด้านน้ำมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทไปแล้ว ชี้การบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง ของไทยเป็นระบบมากขึ้น เตรียมส่งไม้ต่อว่าที่ เลขาฯคนใหม่

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 46/2560  (25 ต.ค.60) โดยให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน ของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 30 หน่วยงาน โดยทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ มีเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562  ภายใต้การกำกับดูแลของ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.คนแรก ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีอะไรที่เตรียมจะส่งไม้ต่อบ้าง

 

ดันโครงการน้ำ 5 แสนล้าน

นายสมเกียรติ  กล่าวว่า จังหวะนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของแผนงานต่าง ๆ หากย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีแรก ได้มีการบูรณาการทำเสนอเป็นแพ็กเกจ อาจจะช้าหน่อยเพราะอยู่ในขั้นเตรียมการ และเป็นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ใหญ่มากนัก และส่วนหนึ่งไม่อยากสร้างความขัดแย้ง ต้องการให้ภาคประชาชน โดยเฉพาะกรรมการลุ่มน้ำ หรืออนุกรรมการระดับจังหวัดได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อน
 

อย่างไรก็ดีหลังปีงบประมาณปี 2564 ที่มีโครงการด้านน้ำผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว  38 โครงการ วงเงิน 2.03 แสนล้านบาท จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 629 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 1.4 ล้านไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 321,612 ครัวเรือน(กราฟิกประกอบ)

 

สมเกียรติ  ประจำวงษ์

 

ส่วนแผนปี 2565-2566 จำนวน 91 โครงการ วงเงิน 6 แสนล้านบาท จะมีการการเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 1,472 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 5.3ล้านไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 1.1 ล้านครัวเรือน พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 2.5 ล้านไร่ ผันน้ำ 3,821 ล้าน ลบ.ม. จะมีโครงการขนาดใหญ่ อาทิ เพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพล, ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ระยะ 1, อ่าง คลองวังโตนด, ผันน้ำ โขงเลย ชี มูล ระยะ 1 และคลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสักเป็นต้น

 

“การศึกษาเตรียมการมามากกว่า 2 ปี แล้ว อาจจะเปิดให้ภาคเอกชนมาลงทุนสนับสนุน หรือใช้ระบบการร่วมทุน  หรือจะใช้เงินกู้แล้วแต่กรณี หากได้บรรจุในแผนงานโครงการ ได้มีการจัดสรรงบประมาณ จะได้รับประโยชน์จะเก็บน้ำไว้เพื่อเป็นความจะมีน้ำไหลเวียนทั้งระบบ มากขึ้น 3,800 ล้าน ลบ.ม. นี่คือสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้”

 

ประชาชนรับรู้-มีส่วนร่วมมากขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า อีกด้านที่สำคัญคือ การสร้างความตื่นตัว และทำให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญร่วมกัน เพราะจะเห็นว่าโครงการสำคัญขนาดใหญ่เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งต้องเผชิญทั้งสองมิติ จะต้องบริหารแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก หรือแบบแบบอเนกประสงค์ที่สามารถรับมือทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ด้วย

 

 “เราเผชิญแบบนี้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องกันมา ประชาชนเริ่มรู้แล้วว่าหากเราไม่ช่วยร่วมมือแล้วใครจะมาช่วย จะรอรับเงินแจก เงินชดเชยต่าง ๆ คงจะไม่ไหวแล้วงบประมาณที่ออกมาในแต่ละครั้งก็ไม่ได้มากพออะไร เพราะฉะนั้นหากมีการรวมกลุ่ม มีการเสนอความคิดออกมาแล้วสามารถที่จะขับเคลื่อนได้โดยที่ไม่ต้องมีข้อขัดแย้งก็เลยทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดเป็นรูปธรรมและรวดเร็วขึ้น”

 

อีกอย่าง สทนช. มีข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงประชาชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลเองก็มีเจตนาที่แน่วแน่วในการแก้ไขปัญหา โดยลงพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นจริง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ขณะที่ในช่วงปีนี้เจอภาวะโควิด ก็มีผลกระทบแน่นอน งบประมาณในการขับเคลื่อนเรื่องน้ำก็ต้องแผ่วลงไป จะเห็นได้ว่าที่เสนองบประมาณ ปี 2565 เสนอไป 3.53 แสนล้าน ถูกปรับลดลงมาเหลือ 1.14 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ) เพราะต้องคำนึงถึงระบบสาธารณสุขของประเทศมากขึ้นกว่าเดิม

บิ๊ก สทนช.ทิ้งทวน ดันแล้วโปรเจ็กต์ 5 แสนล้าน พร้อมส่งไม้ต่อเลขาฯใหม่

เตรียมส่งไม้ต่อ เลขาฯใหม่

เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่าว่าสิ่งที่อยากจะฝากหรือส่งไม้ต่อให้กับเลขาฯ คนใหม่ คือ จากความสำเร็จ ขององค์กร สทนช.ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ก็ขอให้ทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น หวังว่าน่าจะเดินไปได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือนโยบายรัฐบาลขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง หากผู้นำรัฐบาลไม่แข็งพอ หรือมีบารมีไม่มากพอจะไปประสานประโยชน์ของภาคประชาชนในด้านการบริหารจัดการน้ำก็อาจทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความเป็นเอกภาพการบริหารจัดการน้ำลดน้อยถอยลงไป และที่ห่วงคือจากงบประมาณที่แผ่วลงไปพอสมควร อาจทำให้โครงการที่ศึกษาเตรียมไว้แล้วไม่เป็นไปตามแผน จะต้องหาสร้างกลไกลในระยะยาวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ หรือเงินอื่น ๆ จากภาคเอกชนก็ตาม

 

 “เรื่องสุดท้ายกลไกของโลกาภิวัฒน์ กระแสเรื่องการปรับเปลี่ยนของภูมิอากาศโลก บวกกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันนี้สำคัญ เราต้องบริหารน้ำควบคู่ไปกับเพื่อนบ้าน ควบคู่กับเทคโนโลยี ซึ่งหากประเทศเพื่อนบ้าน มีความกลมเกลียวสมานฉันท์กันก็จะเป็นอีกมิติหนึ่งที่ดี แต่หากเราไม่คุยกัน หรือไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นจุดอ่อนทำให้นโยบายด้านน้ำขาดประสิทธิภาพและไม่นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้” นายสมเกียรติ กล่าว

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,697 วันที่ 18 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564