นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดเผยภายหลังจากได้ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2564 ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน เห็นตรงกันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเอกชนคาดการณ์ว่าในปีนี้ การส่งออกน่าจะขยายตัว 8.0% ถึง 10.0% ในครึ่งปีหลัง ในขนาดที่ตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ม.ค. – พ.ค. 2564 มีมูลค่าถึง 108,635.22 ล้านบาท (+10.78%) และการนำเข้ามีมูลค่า 107,141.12 ล้านบาท (+21.52%) ซึ่งถือเป็นพระเอกและเครื่องยนต์เดียวของไทยที่ขับเคลื่อนได้อยู่
ส่วนประเด็นที่หอการค้าฯ ได้เสนอ ประเด็นหลักๆ 7 ประเด็นคือ 1.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้า และการปรับเพิ่มค่าระวางเรือ (freight) ที่สูงขึ้น โดยต้องปรับแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ประเด็นถ่ายลำและประเด็นผ่านแดน โดยท่านรองนายกฯ ได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการถ่ายลำก่อนให้เกิดการจูงใจให้เรือใหญ่เข้ามาที่ประเทศไทยมากขึ้น
2.การดูแลเรื่องรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากขึ้น และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 32 - 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจะช่วยลดผลกระทบต่อการส่งออกน้อยลงและช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าได้สูงขึ้น
3.เสนอให้มีการแก้ไขประเด็นปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนวัตถุดิบผลิตสินค้าอาหารที่ราคาสูงขึ้น ในประเด็นการนำเข้าแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก และแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระป๋องอาหาร เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตกระป๋องภายในประเทศสามารถแสวงหาแผ่นเหล็กจากแหล่งอื่นที่มีต้นทุนถูกลงได้ โดยที่ประชุมได้มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างยุติธรรม และท่านรองนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะลงพื้นที่ดูกระบวนการผลิตและโครงสร้างต้นทุนต่อไป
4.แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวสำหรับโรงงานผลิตอาหารนั้น ได้เสนอมีมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานในระยะสั้นโดยกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ อาทิ
4.1 การเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ
4.2 การเร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี (ทำให้เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย)
4.3 เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 500,000 ราย พร้อมทั้ง กำหนดแนวทางการนำแรงงานใหม่เข้ามาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
5.ประเด็นด้านการค้าชายแดน ก็ได้มีการเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันไปยังกระทรวงเกษตรฯ ในการเพิ่มจุดผ่านแดนถาวร ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย เข้าไปในร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าผักและผลไม้ข้ามแดนผ่านสปป.ลาว ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านเมืองบ่อเต็น-โมฮั่น ไปยังเมืองคุนหมิง โดยมีรถไฟความเร็วสูงของจีนรองรับการขนส่ง
6.ในประเด็นมาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้าน Soft Loan กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการโครงการจับคู่กู้เงินให้สำหรับ SMEs ที่มีการส่งออกซึ่งหอการค้าได้เสนอให้มีการนำสต๊อกสินค้าหรือใบคำสั่งซื้อมาเป็นส่วนหนึ่งของการค้ำประกันแทน บสย. เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ
7.การกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ได้มีแผนจัดงาน Chanthaburi Gems & Jewelry Fair 2021 @Central Festival Phuket เพื่อร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วยกันกับโครงการ PHUKET SANDBOX ที่ได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้น หอการค้าไทยได้เสนอให้มีการเชื่อมโยงกิจกรรมดังกล่าวกับโครงการ HUG THAIS HUG PHUKET โดยกระทรวงพาณิชย์จะได้ประสานงานกับ ททท. เพื่อให้เกิดภาพการบูรณาการและขยายผลการทำงานร่วมกันต่อไป
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ VDO conference ว่า กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเห็นตรงกันว่าการส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาวะปัจจุบันตัวเลขการส่งออกจนถึงปัจจุบันถือว่าดีมากล่าสุดเดือนพฤษภาคมตัวเลขการส่งออกขยายตัวถึง 41.59% และคาดว่าในเดือนมิถุนายนจะยังบวกอยู่ด้วยตัวเลขสองหลัก ซึ่งการที่ตัวเลขการส่งออกของไทยยังขยายตัวในอัตราดีกว่าหลายประเทศส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างหนัก ต่อเนื่อง ทันท่วงทีระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนภายใต้การขับเคลื่อนโดยใช้กลไก กรอ.พาณิชย์
อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอขอให้ SMEs ส่งออกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงื่อนไขพิเศษหรือที่เรียกว่า soft loan ได้แจ้งว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จับมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม( บสย.) จัดโครงการ "จับคู่กู้เงิน"สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมและสิ้นสุดวันที่ 7 เดือนกันยายนโดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนหลายประการช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ภาคเอกชนเสนอเพิ่มเติมขอเงื่อนไขผ่อนปรนอีก 2 ข้อ คือ 1.ขอให้สามารถใช้สต๊อกสินค้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ 2.ขอให้ขยายวงเงินสำหรับผู้ใช้วงเงินเต็มแล้ว เอาสัญญาสั่งซื้อมาเป็นตัวค้ำประกันเงินกู้ จะช่วยรับออเดอร์ได้มากขึ้นส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศเจรจากับ EXIM Bank ต่อไป