แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า สำหรับโครงการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม.วงเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ที่แยกเป็นระบบงานโยธา 78,813 ล้านบาท ค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท การก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาทและค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 3,582 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กำลังเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย ว่าจะเดินรอยตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านบาท ที่มีการร้องเรียนกันอยู่ในขณะนี้หรือไม่
เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศประกวดราคาก่อสร้างระบบงงานโยธา วงเงิน 78,813 ล้านบาทไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีกำหนดขายซองตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-ถึงวันที่ 7 ต.ค.2564 และมีกำหนดให้เอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอในวันที่ 8 ต.ค.2564 เพราะนอกจากจะแบ่งเนื้องานโครงการออกเป็น 6 สัญญาแล้ว ยังมีการกำหนดเงื่อนไขการพิจารณาเพิ่มเติมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ใน 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.9 กม.และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี ราคากลาง 18,574.868 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ระยะทาง 2.3 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี ราคากลาง 15,155 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ระยะทาง 3.1 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี ราคากลาง 14,452.35 ล้านบาท
สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง เป็นงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง ระยะทาง 4 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี ราคากลาง 14,337 ล้านบาท
สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน พร้อมอาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร ราคากลาง 12,769 ล้านบาท และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างวางระบบรางรถไฟฟ้าตลอดแนวเส้นทาง ราคากลาง 3,423 ล้านบาท )
แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมา กล่าวต่อว่า แม้โครงการดังกล่าว จะมีการแบ่งแยกเนื้องานออกเป็น 6 สัญญาเช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟฯ มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาทก่อนหน้า แต่ รฟม.มีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลเพิ่มเติมที่แตกต่างไปจากการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆ โดยกำหนดเกณฑ์พิจารณาผู้ชนะการประมูลแต่ละสัญญาจากข้อเสนอด้านเทคนิค และราคาประกอบกันในสัดส่วน 30-70 ซึ่งถอดแบบมาจากการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.427 แสนล้าน ของรฟม.ก่อนหน้าทุกกระเบียดนิ้ว ด้วยข้ออ้างเป็นโครงการใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง จำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ
“การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นการเอื้อให้กับผู้รับเหมาบางรายหรือไม่ เพราะข้ออ้างของ รฟม.ที่ว่าโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่มีความซับซอนต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพนั้น ในข้อเท็จจริงเงื่อนไขการประมูลได้กำหนดเกณฑ์ชี้ขาดอันเข้มข้นไว้อยู่แล้ว
โดยกลุ่มบริษัทรับเหมาที่จะผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจะต้องมีคำแนนประเมินด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80 คะแนน และคะแนนรวมด้านเทคนิคต้องไม่ต่ำกว่า 85 คะแนน ซึ่งถือเป็นเกณฑ์พิจารณาที่เข้มข้นอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใด รฟม.จึงไปกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ทอนคะแนนด้านเทคนิคที่ได้ลงมาเหลือ 30 คะแนน แล้วไปพิจารณาข้อเสนอทางการเงินประกอบอีก 70% กลายเป็นการเปิดช่องให้กรรมการคัดเลือกสามารถบวกเพิ่มคะแนนให้กับกลุ่มทุนรับเหมารายใดก็ได้ แม้จะพ่ายคะแนนด้านเทคนิค ก็ยังมีคะแนนช่วยด้านราคาได้อีก”
ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ได้เคยสร้างปัญหาให้กับ รฟม.มาแล้ว จากการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.427 สานล้านบาท เพราะถูกบริษัทรับเหมาเอกชนที่เช้าร่วมประมูลยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
เนื่องจากเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่โปร่งใส เต็มไปด้วยความย้อนแย้งจนทำให้โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มคาราคาซังมากกว่าขวบปี จนถึงเวลานี้ รฟม.ยังไม่สามารถหาผู้ชนะประมูลเข้าร่วมลงทุนในโครงการได้
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 เพิ่งจะมีมติให้หน่วยงานของรัฐที่มีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ต่าง ๆ หรือมีโครงการร่วมลงทุนกับเอกช จะต้องนำโครงการเข้าทำสัญญาข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact) เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
รวมถึงสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แต่กระทรวงคมนาคมและ รฟม.ที่เพิ่งออกประกาศประกวดราคาประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ยังไม่มีแผนจะดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งเข้ามาตรวจสอบการประมูลโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะส่อไปในแนวทางเดียวกับการประมูลรถไฟทางคู่ มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาทของการรถไฟฯที่ผลประมูลที่ได้นั้น
พบว่า บริษัทรับเหมาที่เข้าร่วมประมูลโครงการจำนวน 5 รายใน 5 สัญญานั้นรวมหัวกันเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 30-40 ล้านบาทหรือแค่ 0.08% ของมูลค่าโครงการเท่านั้น ทั้งที่โครงการดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาท