วันที่ 20 ก.ค. 2564 ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid- 19 จังหวัดเชียงใหม่ นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูการเก็บลำไยทำให้มีแรงงานต่างพื้นที่เข้ามาเก็บลำไยเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จึงกำหนดมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มคนงานเก็บลำไย
โดยให้ผู้ประกอบการโรงรับซื้อผลไม้ (ล้ง) ผู้ประกอบการสถานที่คว้านลำไยเจ้าของสวนลำไย จัดทำรายชื่อผู้รับจ้างงาน ทะเบียนผู้มาใช้บริการและเลขทะเบียนรถรับส่งสินค้า พร้อมแจ้งรายชื่อคนงานเก็บลำไยในสังกัด ให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อส่งมอบให้แก่สาธารณสุขอำเภอ เพื่อนำไปตรวจคัดกรอง (SWAB) ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ
นอกจากนี้ ขอให้ทุกอำเภอกำหนดมาตรการเข้า-ออก พื้นที่ของคนงานเก็บลำไย โดยจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ (SWAB) แล้วเท่านั้น ถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้า-ออก พื้นที่ได้
ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกตัวของภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ปลูกลำไยประมาณเกือบ 900,000 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตลำไย (ในฤดู) ปีนี้จะมีจำนวนถึง 683,435 ตัน เริ่มออกตลาดตั้งแต่ ก.ค. และมากสุดในเดือนส.ค. โดยพื้นที่ปลูกหลักของภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา และน่าน
เฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผลผลิตในฤดู 260,900 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.96% ราคาผลผลิตลำไยที่เกษตรกรจำหน่ายในพื้นที่แบ่งเป็นมัดปุ๊ก (มัดช่อ) เกรด AA, A และ B ราคา 34, 30 และ 17 บาท/กก. ตะกร้าขาว(ส่งออก) เกรด AA+A , A และ B ราคา 34, 30 และ 17 บาท/กก. และรูดร่วงเกรด AA, A , B และ C ราคา 20, 10, 7 และ 3 บาท/กก. ตามลำดับ
ซึ่งกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมประเมินสถานการณ์ผลผลิต และข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่กระทบต่อการระบายลำไยไปนอกพื้นที่หรือส่งออก และเตรียมมาตรการรองรับมาต่อเนื่อง
นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้รวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ เบื้องต้นมีความต้องการเงินทุน เพื่อรับ ซื้อลำไยสด เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือกอบแห้งเนื้อสีทอง จำหน่ายในรูปแบบบริโภคสด และส่งออกต่างประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนรับซื้อกว่า 400 ล้านบาท รองรับลำไยสด 20,000 ตัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการดูดซับปริมาณ และกระจายผลผลิตลำไยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการช่วยยกระดับหรือรักษาระดับราคาที่เกษตรกรควรได้รับ ธ.ก.ส.จึงได้เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาทไว้รองรับ เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย ทั้งกลางนํ้าปลายนํ้า ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 โครงการ คือ
(1) สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุดกรณีสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ นิติบุคคล ไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีเกษตรกรและกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไม่เกิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน มีการแบ่งปัน อย่างเกื้อกูล และเป็นธรรม อีกทั้งมีการบูรณาการร่วมมือกับส่วนงานภาครัฐ และเอกชน
(2) สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ของ ธปท. ให้วงเงินกู้ร้อยละ 30 ของวงเงินหมุนเวียนที่มีอยู่กับธนาคาร หรือไม่เกิน 20 ล้านบาทในกรณีเป็นลูกค้ารายใหม่ อัตราดอกเบี้ยตามโครงการ ปีที่ 1-2 อัตราร้อยละ 2 ต่อปี ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR แล้วแต่ประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนใน 6 เดือนแรก กำหนดให้ใช้ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
(3) สินเชื่อเสริมแกร่ง SME วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปีที่ 1-2 ร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 3-10 อัตราดอกเบี้ย MRR, MLR, MOR ตามแต่ประเภทลูกค้า ในกรณีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอสามารถขอใช้ บสย. ค้ำประกันได้เช่นเดียวกัน
(4) สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรลูกค้าและบุคคลทั่วไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินสูงสุด 100,000 บาทต่อราย ใช้หลักทรัพย์จำนองหรือบุคคลค้ำประกันได้
นายมาโนช บัวองค์ กล่าวต่อไปอีกว่า ธ.ก.ส.อำนวยสินเชื่อในภาคเหนือไปประมาณ 150,000 กว่าล้านบาท เฉพาะลำไยได้เติมหมุนเวียนเข้าไปอีก 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากลุ่ม เรียกว่าศูนย์ ศปก. หรือ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นศูนย์ตัวอย่างในการที่จะทำลำไยคุณภาพ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาคุณภาพลำไย ซึ่งเป็นต้นนํ้า
ตอนนี้อยู่ระหว่างกลางนํ้า ที่จะเก็บผลผลิตแล้วจะทำอย่างไรให้ลำไยไปถึงมือผู้บริโภค โดยในสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ระบาด จะมีเรื่องการพัฒนาตลาดออนไลน์ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ ทรู คอร์ปอเรชั่น มาแนะนำพี่น้องเกษตรกรในการที่จะทำตลาดออนไลน์ โดยทางทรูฯมอบซิมให้ใช้ทำตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร และให้ ธ.ก.ส.ภาคเหนือทุกจังหวัด ขยายความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย รับจัดส่งลำไยคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมผ่านทาง Thailandpostmart โดยวางเป้าหมายไว้เบื้องต้นจำนวน 4,145 ตัน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25-28 กรกฎาคม พ.ศ.2564