ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 หลังมีพายุฝนตกกระหนํ่าลงมาอย่างหนักในพื้นที่ ทำให้เกิดนํ้าป่าไหลหลาก นํ้าล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่การเกษตรไร่-นา ผลิตผลทางการเกษตรเสียหายหนัก รวมไปถึง ถนนสาธารณะสายต่างๆ และบ้านเรือนราษฎร โดยเฉพาะในตำบลขะเนจื้อ ตำบลแม่ระมาด อ.แม่ระมาด
หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35, ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ 345 และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ-อส. ร่วมช่วยเหลือราษฎรเบื้องต้นแล้ว นํ้าป่ายังไหลหลากพัดสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่บ้านขุนห้วยแม่ท้อ หมู่ที่ 2 ต.สามหมื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก พังเสียหาย จึง
เร่งทำสะพานไม้ไผ่เป็นสะพานชั่วคราวลดความเดือดร้อน ฝนตกหนักเกิดดินสไลด์ทับเส้นทางรวม 8 จุด
ส่วนที่ อ.พบพระ ฝนตกต่อเนื่อง ถนนเพื่อการเกษตรเสียหายหนักนายนิรันดร์ พชรจรัสแสง ผู้ใหญ่บ้านบ้านผากะเจ้อ หมู่ที่ 9 ต.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก ได้เร่งรายงานความเสียหายให้ทางอำเภอรับทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขโดยด่วนต่อไป
ส่วนที่อำเภอแม่สอดก็ได้รับผลกระทบ โดยระดับนํ้าในลำห้วยแม่สอดที่เพิ่มสูงขึ้นและไหลเชี่ยวแรงได้หลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ นายจันทร์ปัดสา หรือ “สท.มอไซค์-จ.ป.ส.” สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) นครแม่สอดได้เดินทางไปช่วยเหลือและแจ้งประสานสำนักงานเทศบาลนครแม่สอด เพื่อเร่งเข้าไปช่วยเหลือโดยเบื้องต้นแล้ว
บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่นํ้าเมย แห่งที่ 1 จากการตรวจสอบระดับแม่นํ้าเมย ตํ่ากว่าตลิ่ง -1.2 เมตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง
ฝนช่วงนี้ยังตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 กองอำนวยการนํ้าแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศแจ้งเตือนว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ที่ได้อ่อนกำลังลงเป็นความกดอากาศตํ่า ปกคลุมเวียนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้นํ้าหลากลงแม่นํ้าโขง ประกอบกับเขื่อนนํ้าอู สปป.ลาว ระบายนํ้าลงสู่แม่นํ้าโขงประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับนํ้าในแม่นํ้า โขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คาดจะมีนํ้าไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว อยู่ในเกณฑ์ 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับนํ้าในแม่นํ้าโขงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ 7 จังหวัด ริมแม่นํ้าโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรี คือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ระหว่าง 2.00-2.50 เมตร ช่วง 25-31 ก.ค.นี้ แต่ยังตํ่ากว่าระดับตลิ่ง
จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่นํ้าโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณ 7 จังหวัดริมแม่นํ้าโขง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับนํ้าในแม่นํ้าโขงอย่างฉับพลัน
ด้านนายวิชัย จาตุรงค์กร ผู้อำนวยการโครงการและบำรุงรักษาห้วยหลวง สำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสถานการณ์อ่างเก็บนํ้าห้วยหลวงในช่วงฤดูฝนปีนี้พ้นภาวะวิกฤตแล้ว เนื่องจากมีนํ้าในอ่างห้วยหลวงสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนแล้ว และมีนํ้าไหลเข้าอ่างห้วยหลวงเฉลี่ยวันละ 4-5 แสนลบ.ม/วัน ยังพร้อมรับนํ้าได้อีกมาก ภาพรวมไม่น่าเป็นห่วงแล้ว สามารถปล่อยนํ้าไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้หากฝนทิ้งช่วง แต่อย่างไรก็ตามต้องใช้นํ้ากันอย่างประหยัด โดยเฉพาะการทำนาปรังขอรอดูสถานการณ์นํ้าช่วงส.ค.-ก.ย.นี้ก่อน ส่วนพืชอายุสั้นยังมีการเพาะปลูกกันอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดอุดรธานีมีอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง ขนาดกลางอีก 12 แห่ง สามารถเก็บกักนํ้ารวมทั้งหมด ทั้ง 14 อ่าง จำนวน 338.99 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างขนาดใหญ่คือ อ่างห้วยหลวง อ.เมืองอุดรธานี ความจุ 135.57 ล้านลบ.ม. ขณะนี้มีนํ้าจุอยู่ที่ 44.49 ล้าน ลบ.ม.หรือ 32.79 % และอ่างหนองหานหรือฝายกุมภวาปี อ.กุมภวาปี มีความจุที่ 102.00 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีนํ้าจุอยู่ที่ 57.90 ล้าน ลบ.ม.หรือ 56.76 % รวมความจุทั้ง 2 อ่าง 237.57 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีนํ้าจุอยู่ 102.35 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43.08 % สูงกว่าปี 2563
รายงานคาดหมายสถานการณ์ฝนบริเวณจังหวัดอุดรธานี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และประกาศเตือนขอให้ประชาชนระมัดระวังภาวะ นํ้าท่วมและนํ้าท่วมฉับพลัน นํ้าป่าไหลหลาก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย จะมีกำลังแรงเป็นระยะๆและต่อเนื่อง ประกอบกับในระยะดังกล่าวจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะมีพายุหมุนเขตุร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศไทยในบางช่วง
“ซึ่งปัจจัยทั้งหมด หากเป็นไปตามคาดการ จะยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้สถานการณ์วิกฤตินํ้าของจังหวัดอุดรธานีให้มีสถานการณ์ที่ดียิ่งขึ้น” นายวิชัยฯ กล่าว
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,700 วันที่ 29-31 กรกฎาคม พ.ศ.2564