นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดแผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจค้าชายแดนและผ่านแดนให้สามารถส่งออกได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการขนส่งระหว่างกัน ซึ่งล่าสุดสถานการณ์ได้คลี่คลายมากขึ้น ส่งผลให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ในเดือนมิถุนายน มีมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 146,094 ล้านบาทหรือขยายตัว41.68% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว แบ่งเป็นการค้าชายแดนมูลค่า 73,376 ล้านบาท ขยายตัว +20.65% และการค้าผ่านแดนมูลค่า 72,718 ล้านบาท ขยายตัว+71.91%
โดยการค้าชายแดนกับประเทศ มาเลเซียมีสูงสุด 24,849 ล้านบาท (+15.33%) รองลงมาเป็น สปป.ลาว 17,894 ล้านบาท (+18.40%) เมียนมา 17,139 ล้านบาท (+31.79%) และกัมพูชา 13,494 ล้านบาท (+20.99%) ตามลำดับ
สำหรับการค้าผ่านแดน ยังคงเป็นจีน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 35,740 ล้านบาท (+86.56%) รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 10,158 ล้านบาท (+81.65%) เวียดนาม 6,082 ล้านบาท (+16.91%) ตามลำดับ
ทั้งนี้สาเหตุที่มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเนื่องจากการทำงานร่วมกับระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ในการเร่งรัดการเปิดจุดผ่านแดน รวมทั้งได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อให้สินค้าที่จะข้ามแดนแต่ละประเทศสามารถผ่านไปได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น
เนื่องจากความต้องการสินค้าจำเป็นเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะจัดประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดด้าน สปป.ลาว เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการปิดด่านไม่ว่าจะเป็น จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจมป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ,จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคานจ.เลย 3. จุดผ่อนปรนการค้า บ้านหมอ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย , จุดผ่านแดนถาวร ท่าเรือหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย , จุดผ่านแดนถาวร ท่าเทียบเรือนครพนม อ.เมือง จ.นครพนมและจุดผ่านแดนถาวร ท่าเทียบเรือมุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร
“การค้าชายแดนและผ่านแดนในปีนี้ ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3-6 %ตามเป้าที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สถานการณ์เปิดทำการจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้า ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ไทยเปิดทำการจุดผ่านแดนทั้งสิ้น 44 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง”
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการ จับคู่กู้เงิน...สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ที่ได้ร่วมมือกับ Exim Bank ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกและผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องและมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ตลอดจนสามารถพยุงธุรกิจอยู่ได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ยอดสินเชื่อ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อแล้ว 331 ราย อนุมัติวงเงินแล้ว 81 ราย วงเงินรวม 316.7 ล้านบาท รอการอนุมัติ 250 ราย วงเงินรวม 2,201 ล้านบาท