วันนี้ (2 ส.ค. 64) ณ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ผ่านระบบออนไลน์ มายังสถานีกลางบางซื่อ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รับหน้าที่ส่งประชาชนเที่ยวปฐมฤกษ์ ณ สถานีกลางบางซื่อ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง”
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
เพื่อเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจ เร่งรัด และติดตามความก้าวหน้าของทุกโครงการมาโดยตลอด
สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟยุคใหม่ ซึ่งมีศักยภาพเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง นอกจากจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง นับเป็นก้าวย่างสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล
ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับสถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2556 และแล้วเสร็จในปี 2564 สถานีกลางบางซื่อ (Grand Station) มีพื้นที่ใช้สอยรวม 298,200 ตารางเมตร โดยภายในสถานี ประกอบด้วย อาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน พื้นที่พักคอย และจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีพื้นที่ใช้สอยรวม 87,200 ตารางเมตร
ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา มีพื้นที่ใช้สอยรวม 58,900 ตารางเมตร และชั้นที่ 3 มีพื้นที่ใช้สอยรวม 58,900 ตารางเมตร เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูง
เชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศและทางราง โดยแบ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา
นอกจากนี้ ยังมีชั้นลอย เป็นพื้นที่ร้านค้าและห้องควบคุม พื้นที่ใช้สอยกว่า 20,700 ตารางเมตร และชั้นใต้ดินพื้นที่ใช้สอยกว่า 72,500 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถ ที่สามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 1,681 คัน ที่จอดรถคนพิการ 19 คัน รวม 1,700 คัน และยังมีพื้นที่อื่นๆ
เช่น ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดพื้นที่ 18,630 ตารางเมตร พร้อมบึงน้ำขนาด 14,000 ตารางเมตร โดยเป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง “นาฬิกาประจำสถานี” ที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ให้บนหน้าปัดมีเลข “๙” เลขไทยเพียงเลขเดียว เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถานีกลางบางซื่อ และแสดงถึงการเดินทางที่เที่ยงตรง
ตัวเรือนนาฬิกามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งบนผนังกระจกของทางเข้าสถานีสูงจากระดับพื้นดิน 21 เมตร ผลิตโดย บริษัท Electric Time Company, Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตนาฬิกาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงในการออกแบบและผลิตนาฬิกากลางแจ้งขนาดใหญ่ ทั้งเคยได้รับการว่าจ้างให้ผลิตนาฬิกาประดับสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกด้วย
สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่เปิดให้บริการ ประกอบด้วย รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต จำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก และสถานีรังสิต ระยะทางรวม 26 กิโลเมตร และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 3 สถานี
ประกอบด้วย สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ระยะทางรวม 15 กิโลเมตร ส่วนขบวนรถไฟเป็นรถไฟฟ้าแบบ Electric Multiple Unit หรือ EMU ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยลดปัญหามลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ระบบควบคุมการเดินรถและระบบให้บริการต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล
มีความปลอดภัยและทันสมัยในทุกขบวน มีพื้นที่รองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกกับผู้พิการตามหลักอารยสถาปัตย์ หรือ universals design ด้านการเดินรถไฟ การรถไฟฯ มอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ
ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้ามามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง โดยในช่วงการทดลองเปิดให้ใช้บริการจะเดินรถทุก 30 นาทีระหว่างเวลา 06.00 น. ถึง 20.00 น. และทุก ๆ 15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมเส้นทางละ 78 เที่ยวต่อวันรองรับผู้โดยสารในช่วงบางซื่อ-รังสิตได้ 1,710 คนต่อเที่ยว ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ 1,120 คนต่อเที่ยว โดยการรถไฟฯ จะจำกัดจำนวนผู้โดยสารทุกประเภท ในขบวนรถและสถานีไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่าง และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการความร่วมมือ ดำเนินงานส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในทุกรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีกับระบบขนส่งมวลชนอื่น กรมการขนส่งทางบก
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางราง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันปรับปรุงการเดินทางในทุกโหมดเพื่อรองรับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟสายสีแดง ไม่ว่าจะเป็น การปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางรองรับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟสายสีแดง การบริหารจัดระเบียบรถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีม่วงเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน
สนามบินนานาชาติดอนเมืองเชื่อมต่อด้วยทางเดิน Skywalk ที่สถานีดอนเมือง และในอนาคตจะมี Skywalk เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่สถานีหลักสี่ รวมถึง Skywalk เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีบางเขน นอกจากนี้ ยังเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา และระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2568
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาส่วนต่อขยายไปยังสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) สถานีศาลายา (มหาวิทยาลัยมหิดล) สถานีธนบุรี-ศิริราช สถานีหัวหมาก และสถานีหัวลำโพง และยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งในอาคารสถานีและพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้มีการพัฒนาสถานี และพัฒนาเมืองในรูปแบบ Smart City ควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ามาแล้วหลายโครงการ นับเป็นความร่วมมือที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงครั้งนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและลดระยะเวลาในการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิต เพียง 25 นาที และจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีตลิ่งชัน เพียง 15 นาที เท่านั้น
โดยการรถไฟฯ จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสารไปจนถึงปลายปี 2564 หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุดในอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยคิดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท และค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ซึ่งการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้
ถือเป็นปฐมบทของการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำและจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมการเดินทางของผู้ใช้บริการ ช่วยเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความสุขให้พี่น้องคนไทยตลอดไป