สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมถึงปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง จากข้อมูลของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีอยู่ถึง 22 แห่ง
ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีมากถึง 116 แห่ง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่ดูแลด้านบริหารจัดการน้ำ เร่งหามาตรการและจัดทำแผนเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า นี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง พบว่ามีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อยู่หลายแห่งรวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตร เช่น เขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง
ขณะเดียวกันในบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำเกินความต้องการของพี่น้องเกษตรกร จากข้อมูลดังกล่าวทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะนำมาวางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ตรงพื้นที่เป้าหมาย โดยจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว
ต่อปัญหาสถานการณ์ดังกล่าว พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประชาชนประสบวิกฤติในหลายด้านและมีความเป็นอยู่ที่ลำบากจึงไม่อยากให้เกิดวิกฤติการณ์น้ำแล้งหรือขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรหรืออุปโภค บริโภคมาซ้ำเติมเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก
ดั้งนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือต่อภาวะวิกฤติดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พื้นที่นาข้าวและพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ นำข้อมูลปริมาณน้ำฝนรวมทั้งความชื้นในดินและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อมาวิเคราะห์ปรับแผนให้สอดคล้อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ให้ได้มีปริมาณน้ำมากที่สุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำต้นทุนไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งต่อไป
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบกขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ซึ่งผลปฏิบัติการฝนหลวงในประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมามีการปฏิบัติการ 7 หน่วย
ส่งผลให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ อาทิ หน่วยจังหวัดตาก บริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร(พรานกระต่าย)จ.สุโขทัย(คีรีมาศ)ส่วนจังหวัดพิษณุโลกมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรจ.กำแพงเพชร(เมืองกำแพงเพชร ลานกระบือ ไทรงาม คลองลาน)จ.พิจิตร(เมืองพิจิตร วชิรบารมี สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง ตะพานหิน สากเหล็ก)จ.พิษณุโลก(บางกระทุ่ม)จ.เพชรบูรณ์(บึงสามพัน วิเชียรบุรี) พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง จ.เพชรบูรณ์
ส่วนหน่วยขอนแก่นมีฝนตกบริเวณบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาฬสินธุ์(สหัสขันธ์ สามชัย สมเด็จ ห้วยผึ้ง นามน ดอนจาน กมลาไสย หนองกุงศรี ห้วยเม็ก ยางตลาด เมืองกาฬสินธุ์) จ.ขอนแก่น(อุบลรัตน์ หนองเรือ บ้านฝาง น้ำพอง ซำสูง กระนวน เมืองขอนแก่น) จ.มหาสารคาม(เชียงยืน ชื่นชม)
ขณะที่หน่วยจังหวัดลพบุรีมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.นครสวรรค์(เมืองนครสวรรค์ ลาดยาว ชุมแสง พยุหะคีรี ตากฟ้า ไพศาลี ตาคลี ท่าตะโก) จ.อุทัยธานี(เมืองอุทัยธานี ลานสัก ห้วยคต สว่างอารมณ์ หนองฉาง บ้านไร่ หนองขาหย่าง) จ.ชัยนาท(เมืองชัยนาท หนองมะโมง วัดสิงห์ เนินขาม หันคา สรรคบุรี มโนรมย์) จ.สิงห์บุรี(เมืองสิงห์บุรี อินทร์บุรี) จ.ลพบุรี(เมืองลพบุรี ท่าวุ้ง บ้านหมี่ หนองม่วง โคกเจริญ โคกสำโรง พัฒนานิคม ชัยบาดาล)
หน่วย จ.สระบุรี(พระพุทธบาท) พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์(อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี) อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่(อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี)อ่างเก็บน้ำทับเสลา(อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี)อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว (อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี)อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง(อ.เนินขาม จ.ชัยนาท)
หน่วยจังหวัดกาญจนบุรีมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี(ทองผาภูมิ สังขละบุรี ศรีสวัสดิ์ หนองปรือ เลาขวัญ บ่อพลอย)จ.สุพรรณบุรี(อู่ทอง ดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี ศรีประจันต์ หนองหญ้าไซ ด่านช้าง สามชุก บางปลาม้า)จ.อ่างทอง(แสวงหา โพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ สามโก้ เมืองอ่างทอง ไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา(มหาราช นครหลวง ท่าเรือ บางปะหัน) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ(อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี) เขื่อนศรีนครินทร์(อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน(อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำกระเสียว(อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี)หน่วยหัวหินมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ส่วนหน่วยสุราษฎร์ธานีมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น