ชาวสวนยางพาราอีสานเหนือเริ่มเห็นความหวัง เครือข่าย 33 สหกรณ์เกษตรยางบึงกาฬ ตั้งโรงงานแผ่นยางพาราครอบแท่งแบริเออร์พร้อมแล้ว นับถอยหลังเปิดเดินเครื่องผลิตพ.ค.นี้ เชื่อมั่นเป็นจุดเริ่มต้นสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นในอนาคต สร้างความมั่นคงทางอาชีพในระยะยาว
นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานสหกรณ์การเกษตร เครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่กลุ่มสหกรณ์การเกษตรยางพาราจังหวัดบึงกาฬ 33 แห่ง ร่วมกันเสนอโครงการเบื้องต้น ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิค-19 (งบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท) ผ่านจังหวัดบึงกาฬ เพื่อเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 120 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราเป็นแผ่นยางพาราครอบแท่งคอนกรีตแบริเออร์
เวลานี้โครงการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวว่าอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว พร้อมที่จะเปิดสายการผลิตแผ่นยางยางพาราครอบแท่นแบริเออร์ได้ในกลางเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ โดยได้ส่งพนักงานประจำเครื่องผลิต ไปฝึกงานด้านกระบวนการผลิตที่อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญ และได้กลับมาถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับพนักงานอื่น ๆ แล้ว
ขณะที่เครื่องจักรก็เดินทางมาถึงโรงงานแล้วรอการติดตั้ง แต่ที่ผ่านมาเกิดการชะงักงันไปช่วงหนึ่ง จากทั้งติดเทศกาลสงกรานต์ ที่สำคัญคือสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิค-19 จนต้องเลื่อนการดำเนินการทุกอย่างไประยะหนึ่ง ทั้งนี้ หลังการติดตั้งเครื่องจักรเสร็จ ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยราวกลางเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ จะสามารถเดินเครื่องเริ่มเปิดไลน์การผลิตได้ทันที
โดยทางสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ รับผลิตแผ่นยางพราครอบแท่งแบริเออร์เพื่อส่งมอบให้กับกรมทางหลวง เพื่อนำไปติดตั้งกับแท่งแบริเออร์ที่ติดตั้งตามถนนหลวงสายต่าง ๆ ทั้งทางร่วมทางแยก จุดเสี่ยงและเสี่ยงสูง ทางโค้ง ต่อไป สมทบกับที่มีอีกส่วนหนึ่งที่สหกรณ์การเกษตรสวนยางพาราในภาคใต้ ได้ทำการผลิตป้อนกรมทางหลวงมาระยะหนึ่งแล้ว
นายเจตน์ฯกล่าวอีกว่า โครงการใช้แผ่นยางพาราครอบแท่งแบริเออร์ของกรมทางหลวง เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี ด้วยงบประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นนโยบายที่ดี ทำให้เกษตรกร วิสาหกิจการเกษตรที่เกี่ยวกับยางพารา มีช่องทางสร้างธุรกิจต่อเนื่องจากยางพารา ให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงสหกรณ์การเกษตร สามารถวางแผนลงทุน และเตรียมการล่วงหน้าได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ระยะแรกที่โรงงานของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ เปิดไลน์การผลิต โดยจะต้องรับแผ่นยางพาราสำเร็จจากโรงงาน อ.เมืองบึงกาฬ และอ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี มาทำการผลิตให้เป็นยางครอบแท่งแบริเออร์ ยอมรับว่ากำลังการผลิตยังไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจดังกล่าว แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้คิดต่อ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ต่อไปในอนาคต เช่น ยางกันลื่นบนถนน ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หรืออื่น ๆ เนื่องจากมีเครื่องจักรหลักอยู่แล้ว เพียงแต่มีการปรับปรุงเล็กน้อยเท่านั้น หรือมีช่องทางจัดหาเครื่องจักรเพิ่มเติม เพื่อขยายไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ยางพาราต่อไป เพราะยางพารามีคุณภาพและคุณลักษณะที่ดีกว่ายางสังเคราะห์
“ผมและเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ 1.2 ล้านไร่ และในภาคอีสานอีกหลายจังหวัด มีความหวังเรื่องอนาคตราคายางพาราจะดีขึ้น และจะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องของยางพารา จากการที่ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยหลืออย่างมีรูปธรรม สามารถลืมตาอ้าปากจากปัญหาราคายางพาราตกตํ่าได้เสียที” นายเจตน์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ที่ประชุมครม. เห็นชอบโครงการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2563 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ตั้งงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี จัดซื้อแท่งแบริเออร์ชนิดที่ใช้ยางธรรมชาติหุ้ม (Rubber Fender Barier : BFB) รวมระยะทาง 12,282.73 ก.ม. และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guider Post : RGP) จำนวน 1,063,651 ต้น ซึ่งมีส่วนช่วยดึงราคายางพาราเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง