นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ค.2564 เท่ากับ 99.81 เทียบกับเดือนมิ.ย.2564 ลดลง 0.12% เทียบกับก.ค.2563 เพิ่มขึ้น 0.45% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.83% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.50 เพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2564 และเพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2563 และเฉลี่ย 7 เดือน เพิ่มขึ้น 0.26%
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว มีปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มสูงขึ้น 29.35% อาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผลไม้สด ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของฐานปีที่แล้วต่ำ และมีความต้องการเพิ่มขึ้นในบางช่วง และเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช ซีอิ้ว พริกแกง ที่เพิ่มขึ้นจากฐานปีที่แล้วต่ำ
โดยมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นมาก มาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล คือ การลดค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้าที่ลดค่อนข้างแรงกว่าเดือนที่แล้ว เพราะใช้ฐานคำนวณใหม่ เป็นเดือนก.พ. จากเดิมเม.ย. ทำให้จ่ายค่าไฟถูกลง และยังมีการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการลดลงของสินค้าอาหารสดบางชนิด เช่น ข้าว ข้าวสารเหนียว ผักสด ที่ฐานปีที่แล้วต่ำ และผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ภาคใต้ เช่น มังคุด ที่ลดลงมาก เพราะมีปัจจัยเรื่องผลผลิตออกมาก มีปัญหาเรื่องการเก็บผลไม้ การขนส่ง ทำให้มีสต็อกค่อนข้างเยอะ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม ที่ราคาปรับลดลง และเครื่องนุ่งห่ม ที่ราคาลดลง เพราะความต้องการลดลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อเดือนก.ค.2564 กลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มีมากกว่ากลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อหดตัว จึงทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.45% แต่ถ้าไม่มีมาตรการรัฐ ทั้งลดค่าน้ำ ค่าไฟ จะมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก 1.3% ถ้าบวกเข้าไปเงินเฟ้อเดือนนี้ ก็จะวิ่งไปที่ 1.8% พอมีมาตรการมาช่วย ก็ขึ้นไม่มากอย่างที่เห็น
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนส.ค.2564 คาดว่าจะขยายตัวไม่สูงมากนัก เพราะยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ในรอบเดือนก.ค.-ส.ค.2564 ส่วนราคาน้ำมัน แม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง เพราะฐานปีก่อนเริ่มสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ และยังมีปัจจัยจากโควิด-19 ที่กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน
ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี ยังคงคาดการณ์อยู่ในช่วง 0.7-1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% และมองว่าโอกาสที่จะขยับขึ้นไปถึง 1.7% มีความเป็นไปได้น้อย เพราะน้ำมันไม่ได้ขยับขึ้นต่อเนื่อง และยังมีมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลถึงส.ค.2564 โดยไตรมาส 2 เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.36% ได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ส่วนไตรมาส 3 และ 4 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.01% และ 1.90% ภายใต้สมมุติฐาน รัฐบาลไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติม แต่ถ้ามี ตัวเลขนี้จะลดลงอีก แต่ทั้งปี จะอยู่ที่ 1.18-1.2% ภายใต้สมมุติฐาน จีดีพี 1.5-2.5% ราคาน้ำมัน 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ