นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับภาคเอกชนอย่าง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเบื้องต้นในการเดินหน้านโยบายประกันรายได้สินค้าข้าว ซึ่งถือเป็นการนับหนึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 3 โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับโครงการปี 2
และจะมีการนำเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
โดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2564 และภาคใต้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2564 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2565 และการจ่ายเงินส่วนต่างจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนต.ค.2564-28 ก.พ.2565 ส่วนภาคใต้จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.2565
สำหรับมาตรการคู่ขนานที่จะเข้ามาช่วยเสริมเพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมี 3 มาตรการ ประกอบด้วย1.การสนับสนุนให้เกษตรกรชะลอการขายในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวราคาตกจนเกินไป โดยเกษตรกรที่ชะลอขายข้าวจะได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท 2.ช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์หรือสีโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวและไม่ปล่อยออกสู่ตลาด ชดเชยดอกเบี้ย 3% และ 3.เร่งรัดส่งเสริมการส่งออกข้าว เพื่อระบายข้าวในประเทศ เพราะฤดูการผลิตหน้าจะมีข้าวออกสู่ตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 26 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีการส่งออกข้าวโดยช่วยดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 6 เดือน ในเดือนต.ค.2564 ถึงมี.ค.2565
ส่วนผลการดำเนินโครงการปี 2 มีการจ่ายเงินส่วนต่างสูงสุดสำหรับข้าว 5 ชนิดดังนี้ ข้าวหอมมะลิจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 42,830 บาทต่อครัวเรือน ข้าวหอมนอกพื้นที่ จ่ายสูงสุด 41,680 บาทต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้า จ่ายสูงสุด 36,670 บาทต่อครัวเรือน ข้าวหอมปทุมธานี จ่ายสูงสุด 26,674 บาทต่อครัวเรือน และข้าวเปลือกเหนียว จ่ายสูงสุด 33,350 บาทต่อครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้กรมการค้าต่างประเทศ เร่งเจรจาขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีน ซึ่งยังมีความตกลงซื้อขายข้าวค้างการซื้ออยู่ 280,000 ตัน โดยขอให้เจรจากับจีนเพื่อให้ซื้อข้าวครบตามที่ได้ตกลงไว้โดยเร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ช่วงเวลานี้ อยากขอให้จีนช่วยซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มเติม เพราะราคาข้าวหอมมะลิของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยก่อนหน้านี้ ที่เซ็นสัญญากับจีนไว้ 20,000 ตัน ได้มีการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในขณะที่การแข่งขันในตลาดนั้นในครึ่งปีหลังเชื่อว่ายังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับข้าวเวียดนาม อินเดีย โดยข้าวขาว5% ของไทยราคาอยู่ที่ 388 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวของเวียดยามอยู่ที่390ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวอินเดียราคาอยู่ที่385ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่แข่งขันได้และคุณภาพข้าวไทยยังได้เปรียบ โดย การส่งออกข้าวตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 2.17 ล้านตัน ในขณะที่เดือนกรกฎาคมไทยส่งออก 5.7แสนตัน รวม 7 เดือนไทยส่งออกได้ 2.74 ล้านตัน จากเป้าส่งออกทั้งปีที่ 6 ล้านตัน
ทั้งนี้ ราคาประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 ยางแผ่นดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท ราคาน้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 8.50 บาท และปาล์มน้ำมัน กก.ละ 4 บาท