การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประจำเดือนสิงหาคมได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 10-12%(จากเดิมคาด 8-10%) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงสุดในเวลานี้คือเชื้อโควิดที่ลามเข้าไปในคลัสเตอร์โรงงานในวงกว้าง ณ เวลานี้หากไม่สามารถควบคุมได้จะส่งผลต่อซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง และอาจทำให้การส่งออกสะดุดลงได้ ขณะที่ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทยปี 2564 ลงเป็นติดลบที่ -1.5% ถึง 0.0% จากผลกระทบจากโควิดที่ระบาดรุนแรงในระลอกใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ข้อมูลสะสมตั้งแต่ที่ 1 เม.ย.-4 ส.ค. 2564 มีโรงงานที่พบมีการระบาด 591 แห่ง ผู้ติดเชื้อ 42,608 คน ครอบคุลมพื้นที่ 51จังหวัด (เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 29 ก.ค.มีการระบาดใน 518 โรงงาน ผู้ติดเชื้อ 36,861 คน ใน 49 จังหวัด) โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร 111 โรง อิเล็กทรอนิกส์ 85 โรง เครื่องนุ่งห่ม 49 โรง โลหะ 49 โรง และพลาสติก 44 โรง
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับคาดการณ์ส่งออกของ กกร.จาก 8-10% เป็น 10-12% มองว่าเป็นไปได้ ภายใต้สมมุติฐานการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะต้องไม่รุนแรงมากกว่า 2,000 โรงงาน หากมากกว่านี้ จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศ โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และอาหาร จากอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานจำนวนมาก เวลานี้แรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีเพียง 2% ของแรงงาน ทั้งระบบที่มีกว่า 10 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก สิ่งเดียวที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือการเร่งฉีดวัคซีน เพราะการล็อกดาวน์เป็นเพียงการชะลอเวลาการแพร่เชื้อเท่านั้น
“อุตสาหกรรมที่มีการชะลอออเดอร์ในเวลานี้ เช่น อาหารทะเล สินค้าไก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วน สิ่งทอ เพราะโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ทั้งนี้การชะลอออเดอร์เป็นเพียงระยะสั้น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นไตรมาส 3 ตัวเลขส่งออกน่าจะขยายตัวได้ 8% มูลค่าราว 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นในไตรมาส 4 น่าจะยังคงส่งออกได้ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ไม่รุนแรงไปกว่านี้”
สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสริมที่ทำให้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ดี คือการที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มฉีดวัคซีนกันเกือบ 100% ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กำลังการผลิตกลับมา ความต้องการสินค้ามีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะยังคงมีการติดเชื้อซ้ำ แต่กิจกรรมด้านเศรษฐกิจไม่ได้ลด เพราะประเทศต้องเดินไปข้างหน้า
“สินค้าที่ชะลอคำสั่งซื้อเวลานี้ เช่น กลุ่มอาหาร ทูน่า ยานยนต์ ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากค่าระวางเรือที่ค่อนข้างสูงใกล้เคียงกับราคาสินค้า นำไปขายก็กำไรน้อย ส่วนกลุ่มที่ยังไปได้ดีมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องเช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้สด อาหารพร้อมปรุง เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น เครื่องต้มยำ ผงปรุงรส จากคนทำงานที่บ้านหรืออยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสโตในไตรมาส3-4 เพราะความนิยมเพิ่มขึ้น”
ด้าน ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คาดปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 8% ทั้งนี้แม้ส่งออกไทยครึ่งปีแรกฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีจากตลาดหลักได้แก่ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรปฟื้นตัว อย่างไรก็ดีในครึ่งปีหลังมีปัจจัยเสี่ยงจากโควิดที่กลับมาระบาดอีก โดยเวลานี้คู่ค้าหลักคือสหรัฐฯ และจีนกำลังเผชิญกับการกลับมาของการแพร่ระบาดของโควิด เห็นได้จากสหรัฐฯกลับมาเข้มการใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น รอลุ้นว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ ส่วนจีนพบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นความเสี่ยงในตลาดส่งออกหลัก ดังนั้นจึงคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 8%