กรมการขนส่งทางราง(ขร.) จัดประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง ครั้งที่ 5-3/2564 ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง โดยมีนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างมาตรฐาน จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่
1) มาตรฐานระบบการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ (AC electrification system) เพื่อใช้เป็นแนวทางการออกแบบ ติดตั้ง การทดสอบ และการตรวจสอบของระบบการจ่ายไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าขับเคลื่อน
รวมถึงอุปกรณ์ของระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับระบบรถไฟสายประธาน (main line) ซึ่งรวมถึงระบบรถไฟชานเมือง (commuter train) และระบบรถไฟระหว่างเมือง (intercity train) ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ
2) มาตรฐานรูปแบบการต่อหม้อแปลงสำหรับระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (Transformer arrangement standard for AC electrification system) ซึ่งมาตรฐานนี้ระบุข้อกำหนดของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังสำหรับโหลดขับเคลื่อน
ที่ใช้ในสถานีไฟฟ้าขับเคลื่อน หรือใช้ตามเส้นทางเดินรถไฟ เพื่อจ่ายกำลังให้กับระบบขับเคลื่อนแบบกระแสสลับ หรือเพื่อจ่ายกำลังให้กับบริการเสริมต่าง ๆ สำหรับรถไฟสายประธานทุกเส้นทางใหม่และเส้นทางเก่าที่ปรับปรุงเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ
3) มาตรฐานแนะนำคุณลักษณะรถขนส่งทางราง (Recommended general standard for rolling stock) เพื่อกำหนดมาตรฐานแนะนำสำหรับคุณลักษณะรถขนส่งทางราง
โดยระบุข้อแนะนำทางเทคนิค และมาตรฐานจากต่างประเทศที่สามารถใช้อ้างอิงได้กับประเภทของรถขนส่งทางราง ดังต่อไปนี้ 1. รถไฟโดยสารและรถไฟขนส่งสินค้า ( Locomotive, Diesel Multiple Units, Diesel Electric Multiple Units, Passenger Coaches, Freight Wagon)
2. รถไฟฟ้า (Electric Multiple Units) 3. รถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Trains) 4. รถราง (Tram) 5. รถไฟรางเดียว (Monorail)
6. ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือ7. รถขนส่งทางรางประเภทอื่น ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
โดยได้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและ universal design ของตัวรถขนส่งทางรางไว้แล้วด้วย
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทั้ง 3 มาตรฐานดังกล่าว พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงมาตรฐานตามความเห็นที่ประชุม ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา มาตรฐานด้านเครื่องกลและตัวรถขนส่งทางราง มาตรฐานด้านไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอื่น ๆ เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไป