“สทนช.” เร่งจัดทำผัง ลุ่มน้ำบางปะกง รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ร่วม

20 ส.ค. 2564 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 20:31 น.

สทนช.ลงพื้นที่ติดตามเร่งรัดโครงการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำบางปะกง 1 ใน 8 เป้าหมายเร่งจัดทำผังน้ำสำคัญและจำเป็นเร่งใน 8 ลุ่มน้ำสำคัญ ทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป้องกันแก้ไขภาวะน้ำแล้ง แก้น้ำท่วม ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับน้ำ ให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า  สทนช.ได้วางเป้าหมายในการศึกษาและจัดทำผังน้ำสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน 8 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี มูล บางปะกง แม่กลอง สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีนและบางปะกง และจะทยอยดำเนินการให้ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2566  

 

สำหรับการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำบางปะกงนับเป็น 1 ใน 8 ลุ่มน้ำสำคัญที่สทนช.วางเป้าหมายเร่งดำเนินการเร่งด่วนซึ่งการดำเนินการอยู่ภายใต้ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ได้บัญญัติไว้ให้ สทนช.) จัดทำผังน้ำ  โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาประกอบด้วย 4 ด้านคือ  1.เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การวิเคราะห์ และการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำบางปะกง ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ. 2561 2. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ

 

3.เพื่อใช้ข้อมูลผังน้ำประกอบการสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง แผนป้องกัน และแก้ไขภาวะน้ำท่วม รวมถึงการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำและ 4.เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับผังน้ำ ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ 

 

“สทนช.” เร่งจัดทำผัง ลุ่มน้ำบางปะกง รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ร่วม

 

สำหรับความก้าวหน้าการศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำบางปะกง  ปัจจุบันมีโครงการสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบางขนาก ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโครงการสำคัญที่จะเข้ามาช่วยในการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพชั้นในลงสู่แม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว โดยการปรับปรุงสถานีสูบน้ำบางขนาก ซึ่งเดิมมีศักยภาพการสูบน้ำได้เฉพาะในพื้นที่โครงการ

 

ดังนั้นจึงเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำโดยระบายได้สูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พร้อมกับรับน้ำที่มาจากคลอง 13–17 ที่อยู่ทางตอนบนด้วย เมื่อทั้งสองโครงการแล้วเสร็จจะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ รวมไปถึงกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

“สทนช.” เร่งจัดทำผัง ลุ่มน้ำบางปะกง รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ร่วม

 

นอกจากนี้ โครงการสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบางขนากยังมีประโยชน์ในด้านการควบคุมคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบให้เหมาะกับการใช้น้ำในภาคการเกษตร และการใช้น้ำในพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลอง เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถป้องกันปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มที่พบบริเวณแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในการจัดทำร่างแผนที่คุณภาพน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ดังเช่น ทำให้ทราบถึงคุณลักษณะและคุณภาพน้ำของแม่น้ำที่ควรจะเป็นและเหมาะสมกับการใช้น้ำในด้านต่างๆ เช่น น้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม  

 

“สทนช.” เร่งจัดทำผัง ลุ่มน้ำบางปะกง รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ร่วม

 

โดยแนวทางการศึกษาแลได้มีการสำรวจและเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องศึกษาวิเคราะห์ วางแผนและกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม โดยกรอบแนวทางการศึกษาการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำบางปะกง อาทิ  ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำ  จัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ/ข้อมูลแหล่งน้ำ การจัดทำแบบจำลองน้ำท่วม จัดทำแนวทางบริหารจัดการน้ำแล้ง/น้ำท่วมและการวิเคราะห์น้ำท่วมเพื่อจัดทำผังน้ำ รวมทั้งมูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เป็นต้น  

 

“สทนช.” เร่งจัดทำผัง ลุ่มน้ำบางปะกง รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ร่วม

 

ปัจจุบันลุ่มน้ำบางปะกง ประสบปัญหาน้ำท่วมหลาก ภัยแล้ง รวมถึงน้ำเค็มรุกล้ำ อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างได้แก่ แหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอ ไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติมได้ตามแผน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการขยายตัวของชุมชนและอุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำมีจำกัด การตื้นเขินเนื่องจากการตกตะกอนในลำน้ำและอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล  

 

เมื่อปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจึงต้องมีการจัดการระบบเส้นทางน้ำเพื่อกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำ อนุรักษ์ลำน้ำและแจ้งให้ประชาชนทราบถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยระดับต่างๆและการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม โดยระบบเส้นทางน้ำนี้เรียกว่าผังน้ำ

 

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังได้ศึกษาครอบคลุมแผนการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่คลองแสนแสบภายใต้แผนพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ตามนโยบายเร่งด่วนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้วย