นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ศรชล.ระนอง สาธารณสุขระนอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มตลาดองค์การสะพานปลาระนอง หลังตรวจค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 100 รายต่อวัน จึงได้มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 กับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการแพปลาและแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในพื้นที่
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ตลาดองค์การสะพานปลา ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงอีกจุดหนึ่ง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเข้า-ออก โดยเป็นความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ตลาดองค์การสะพานปลา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศรชล.จังหวัดระนอง แรงงานจังหวัดระนอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะกำหนดให้การเข้า-ออกเป็นช่วงเวลา เพื่อคัดกรองผู้คนที่เดินทางเข้ามาในตลาดองค์การสะพานปลา เพื่อทำการประมูลสัตว์น้ำ
ก่อนหน้านี้องค์การสะพานปลาได้มีการประมูลสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน แต่ตอนนี้ได้มีการแบ่งโซน แบ่งระยะเวลาในการเข้าประมูล โดยแยกเป็นชนิดสัตว์น้ำ เช่น ปูทะเล ก็จะมีการประมูลก่อนในช่วงเช้า เนื่องจากปูเป็นอาหารทะเลชนิดที่เสียง่าย จึงจัดให้มีการประมูลก่อน และสัตว์น้ำอื่น ๆ ไล่เป็นลำดับไป
ส่วนวิธีการประมูล เปลี่ยนมาเป็นให้เขียนใส่กระดาษยื่นประมูลผ่านคนกลาง แทนการตะโกนหรือยกมือ เพื่อลดการเข้ามาอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น
ส่วนมาตราการหลังจากนี้ จังหวัดระนองได้มีการประกาศเคอร์ฟิวส์ ห้ามออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 น. ร้านอาหาร สถานประกอบการ ห้างฯ ร้านสะดวกซื้อ ให้ปิดตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. มีผล 21 สิงหาคม 2564
นายสุรินทร์ โลสงค์ นายกสมาคมประมงระนอง เปิดเผยว่า ทางการเมียนมาได้ประกาศปิดอ่าวเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-ต้นเดือนสิงหาคม 2564 เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่ สำหรับเขตประกาศปิดอ่าวอยู่ในพื้นที่โซน C ตั้งแต่ละติจูตที่ 9.30-14 หรือตั้งแต่ จ.เกาะสอง ไปจนถึงกรุงย่างกุ้ง แต่เรือประมงพื้นบ้านของเมียนมายังสามารถทำประมงได้ตามปกติ
ส่วนพื้นที่โซน A ตั งแต่ละติจูตที่ 14-17 และโซน B ละติจูตที่ 17-20 ไม่มีการประกาศปิดอ่าวแต่อย่างใด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรือประมงของไทย ที่เข้าไปสัมปทานในเขตน่านน้ำของประเทศพม่า ทำให้เรือบางส่วนต้องหาพื้นที่ทำประมงใหม่ ขณะที่เรือประมงบางส่วนก็ต้องนำกลับเข้าฝั่ง เพื่อจอดหรือขึ้นคานซ่อมแซมเรือ
แต่ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้เปิดอ่าว ให้เรือประมงไทยเข้าไปจับสัตว์น้ำได้อีกครั้ง ซึ่งทำให้บรรยากาศการนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำบริเวณท่าเรือระนองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ท่ามกลางมาตรการควบคุมสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
สำหรับมาตรการทางน้ำที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดระนอง กำหนดตามมติการประชุมครั้งที่ 50/2564 มีดังนี้ ระงับการใช้ช่องทางผ่านแดน และระงับการเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของตลอดแนวชายแดนทางทะเลของจังหวัดระนองทุกช่องทาง ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากทางราชการเป็นการเฉพาะ
สำหรับการเทียบท่าของเรือทุกประเภท ตลอดแนวชายแดนทางทะเลของจังหวัดระนอง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้
1.เรือสำหรับขนส่งสินค้าอุป-บริโภค หากกรณีที่ไม่ใช่สัญชาติไทยต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยต้องแสดงเอกสารการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด และให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรทันทีที่ส่งสินค้าเสร็จแล้ว โดยต้องไม่เกิน 7 ชม. นับตั้งแต่ยานพาหนะนั้นออกจากช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ไปยังจุดขนส่งสินค้า เรือประมงหากมีการแจ้งออก ณ ที่ใด ให้แจ้งเข้า ณ สถานที่นั้น
เรือขนถ่ายสินค้าให้ปฏิบัติตามาตรการ ดังนี้ ให้เรือขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำที่จะเข้ามาขนถ่ายสินค้าให้ดำเนินการในเวลา 06..00น.-18.00น.เท่านั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้แจ้งขออนุญาตกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดระนอง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่มิใช่สัญชาติไทย ให้ดำเนินการแจ้งขอเข้าทำการขนถ่ายสัตว์น้ำกับด่านตรวจสัตว์น้ำจังหวัดระนองทุกครั้งก่อนจะดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ระนอง นายแพทย์นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เผยว่า (20 สิงหาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 เพิ่มเติมจำนวน 128 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 4,433 ราย เป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย 2,107 ราย ชาวไทยพลัดถิ่น 89 ราย ชาวเมียนมา 2,236 ราย และชาวจีน 1 ราย ผู้ป่วยรายที่ 4,305 – 4,433 จำนวน 128 ราย เป็นชาวไทย 81 ราย และชาวเมียนมา 47 ราย ในพื้นที่ อ.เมืองระนอง 119 ราย, อ.กระบุรี 3 ราย, อ.กะเปอร์ 2 ราย, อ.ละอุ่น 3 ราย และ อ.สุขสำราญ 1 ราย