นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการประกอบกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ในช่วง 9 เดือน (ต.ค.63 - มิ.ย.64) โดยเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัย จำนวน 19 ครั้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2563 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น 18.75% (ปี 2563 มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัย จำนวน 16 ครั้ง) โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพนักงานในโรงงานไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน
รองลงมาเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด/เครื่องจักรชำรุด โดยประเภทของอุบัติเหตุ/อุบัติภัยที่พบว่าเกิดขึ้นสูงสุด คือ เหตุเพลิงไหม้ และโรงงานที่เกิดเหตุสูงสุด คือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งไม่ใช่ปุ๋ยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง อาทิ การทำเคมีภัณฑ์สารเคมี หรือวัสดุเคมี (โรงงานประเภทที่ 42(1))
โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง จำนวน 9 ครั้ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน จำนวน 10 ครั้ง (ต.ค.63 - มิ.ย.64) ขณะเดียวกันยังพบว่า มีอุบัติเหตุที่มีลักษณะการเกิดเหตุแตกต่างจากประเภทอื่นๆและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ กรณีระบบไฟฟ้าขัดข้อง ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการผลิตของโรงงานด้วย
“จากรายงานดังกล่าวข้างต้น ได้สั่งการไปยังทุกนิคมอุตสาหกรรม ให้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลโรงงานให้ดำเนินการจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงาน การบำรุงรักษาอุปกรณ์ ตรวจสอบอุปกรณ์ พร้อมปรับปรุงและทบทวนให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงเป็นระยะ ขณะเดียวกันให้มีการจัดอบรมและฝึกปฏิบัติแก่ลูกจ้าง รวมถึงตรวจสอบความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนกรณีระบบไฟฟ้าขัดข้อง ได้ให้โรงงานจัดทำระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉินแยกเป็นอิสระจากระบบอื่น และสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติเมื่อระบบจ่ายไฟฟ้าปกติหยุดทำงานในโรงงานที่มีกระบวนการผลิตที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพอนามัยเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง”
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว กนอ.ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 และกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522
“ได้กำชับไปยังทุกนิคมอุตสาหกรรมในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน อุบัติเหตุ อุบัติภัย จากการประกอบกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือแก้ไขปัญหา และศึกษาข้อมูลสถิติการเกิดเหตุ เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดในอนาคต โดยให้มีการรายงานผลการแก้ไขและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำภายหลังเกิดอุบัติเหตุโดยเร่งด่วน”