ช็อก ทำประมงพื้นบ้าน "เขตอุทยาน" ต้องขออนุญาตก่อน

28 ส.ค. 2564 | 11:01 น.

“สะมะแอร์” โวย กรมอุทยานฯ ลักไก่ ชงกฎหมายจัดระเบียบประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตพื้นที่อุทยานต้องขออนุญาตก่อน กังขาทำไมไม่รับฟังความคิดเห็น “อ.จ๊ะ” เล็งชงเข้า คคก.นโยบายประมงแห่งชาติ ปลุกกรมประมง-กระทรวงเกษตรฯ ระดมพลช่วย ป้องประมงพื้นบ้าน 5 หมื่นราย สูญอาชีพ

ที่ประชุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 (วันที่  26  ส.ค.) มติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12 ฉบับ เตรียมประกาศใช้ 8 ฉบับ อีก 4 ฉบับเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

สำหรับในส่วนกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ แล้วสามารถประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ต่อไป แต่มีระเบีบบ/ประกาศ  2 ฉบับที่กระทบต่อประมงพื้นบ้านกว่า 5 หมื่นลำ 1.ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

 

2.ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการเก็บหารือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. .... มีความคืบหน้าตามลำดับ

สะมะแอ เจะมูดอ

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ได้รับทราบข่าวตกใจ ในเรื่องการจับสัตว์น้ำในเขตอุทยาน มีความผิด จะต้องขออนุญาตก่อน เป็นรายวัน ก่อนจับก็ต้องขออนุญาต ทางสมาคมยังไม่เห็นร่างเลยได้ข่าวว่ากำลังเสนอ ครม. ก็รู้สึก งง ไม่เข้าใจ และตอนนี้ก็ไม่เห็นร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกไปเลย ข่าวนี้รู้สึกหนักว่า แรงงานทำงานบนเรือประมงพื้นบ้านเสียอีก ที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา C188

 

“เรื่องดังกล่าวนี้ทางสมาคมจะต้องมีประชุมด่วนในเรื่องดังกล่าวนี้ กรมอุทยานฯ ไม่เคยนั่งหารือ หรือประชุมร่วมกันเลย เป็นเรื่องที่ทุกคนช็อกกันหมดแล้วพี่น้อง โดยเฉพาะพี่น้องฝั่งอันดามันตายกันหมด เป็นพื้นที่ทำประมงในเขตอุทยาน อาทิ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา  เป็นต้น ปัจจุบันมีเรือประมงพื้นบ้าน กว่า 5 หมื่นลำ ก็ต้องแวะเข้าไปทำประมงในเขตพื้นที่อุทยานยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าพื้นที่ดังกล่าว”

 

นายสะมะแอ กล่าวว่า ความจริงก่อนที่จะออกกฎหมายใดใด น่าที่จะถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อน พอมีกฎหมายออกมาอย่างนี้ รู้สึกช็อก ที่สำคัญเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

รศ.ธนพร ศรียากูล

 

รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า ประกาศระเบียบกระทรวงอุทยาน ซึ่งประกาศฉบับนี้ ตามประกาศพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 65 ก็คือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เข้าป่า หาของป่า ขุดหน่อไม้ รวมถึงอุทยานทะเลด้วย ซึ่งอุทยานทะเลก็มีความสัมพันธ์กับประมงพื้นบ้าน

 

ประเด็นที่1 เป็นระเบียบที่ออกแบบขึ้นมา บัญชีที่ว่าทรัพยากรที่จะใช้ประโยชน์ได้ หมุนเวียนเกิดใหม่ได้ ใครจัดทำบัญชีนี้ แล้วกระบวนการในการจัดทำบัญชีนี้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าจะตีความเฉพาะ พ.ร.ก.การประมงฯ ยกตัวอย่างอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสุรินทร์ มีพี่น้องมอร์แกนอยู่ โดยหัวหน้าอุทยานไปสำรวจการจับปลาที่เป็นปกติมีปลาอยู่ 20 ชนิด ก็จะส่งข้อมูลมาให้การสำรวจว่ามีปลาอยู่ 20 ชนิดสำรวจจากใคร จากชาวประมง หรือนักวิชาการประมงไปร่วมด้วยหรือไม่ และชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่

 

ประเด็นที่2.แหล่งที่อยู่อาศัย เพราะต้องไปกำหนดพื้นที่ที่ให้จับปลาด้วย สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับการทำประมงพื้นบ้านจริงหรือไม่ หากบังเอิญชาวบ้านไปจับปลานอกเขตที่กำหนด หรือไปจับสัตว์น้ำนอกบัญชีที่ประกาศมีความผิดตามกฎหมาย คราวนี้คุกมีไว้ขังคนจน เพราะค่าปรับสูงมาก

 

รศ.ธนพร กล่าวว่า ส่วนผู้ที่จะขออนุญาตเข้าไปจะต้องขอเป็นรายครั้ง ข้อความ เขียนไว้ว่า ให้ยื่นคำขอ แล้วต้องระบุให้ชัดเจนว่าขอเข้าไปทำอะไร อยากตั้งคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ว่าถามชาวบ้านหรือยัง เป็นภาระเกินควรหรือไม่ เพราะอย่างนี้ถือว่าเป็นปกติธุระหรือไม่ นี่กำลังสร้างกฎเกณฑ์การใช้ทรัพยากรที่เกินจำเป็นหรือไม่ กฎหมายประมงยังเอาแค่จดสมุดล็อกบุ๊ก ( LOGBOOK) วันนี้เรือประมงพื้นบ้านก็ยังไม่ได้ไปถึงจดสมุด ล็อกบุ๊ก แต่นี่กำหนดเลยว่าตั้งแต่เข้าไปจะจับปลาต้องเขียนมาเลยว่าจะจับปลาอะไร ย้อนแย้งหรือไม่

 

ประเด็นที่3 การยื่นขออนุญาตเข้าไปทำประมงในเขตอุทยาน ไม่ใช่ไปยื่นหัวหน้าอุทยาน จะต้องไปยื่นที่ผู้อำนวยการสำนักงานที่อนุรักษ์ ถามว่าชาวบ้านทำมาหากินฝั่งอันดามัน สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ดูแลพื้นที่อยู่นครศรีธรรมราช แล้วชาวบ้านจะไปอย่างไร ให้ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วบอกว่าจะพิจารณาตอบกลับมาภายใน 30 วัน

 

“อาชีพชาวเล ไปค่ำกลับเช้า จะไปรอ 30 วัน เปรียบเทียบกับกฎหมายประมง ที่ใช้กับเรือประมงพาณิชย์วิธีการคุมก็คือคุมที่ล็อกบุ๊ก ไปคุมที่การจับปลา ก็จะประกาศเลยว่าสัตว์น้ำชนิดไหนที่ต้องห้าม ก็จะออกเป็นกฎหมาย ส่วนการจับก็มาจดบันทึกล็อกบุ๊ก เอาผลการจับมาคำนวณเป็นค่า MSY  ก็จะมากำหนดวันทำประมง “

 

แต่นี้ทำ 1.สำรวจก่อนมีปลาให้จับกี่ชนิด ตอนไปสำรวจก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านร่วมสำรวจด้วยหรือไม่ 2.กำหนดบริเวณด้วยว่าให้จับปลาได้บริเวณนี้เท่านั้น ห้ามออกหาปลาไปรอบเกาะ แล้วสงสัยตรงที่ให้จับบริเวณดังกล่าวใช้แหล่งหาปลาที่ชาวบ้านจับกันหรือไม่  ใช้วิถีชีวิตกับชาวบ้านหรือไม่ 3.การขอใบอนุญาตการจับไปถึงระดับผอ.สำนักบริหารฯ พี่น้องชาวเลอยู่หลีเป๊ะ พี่น้องมอร์แกน จะขออนุญาตอย่างไร ส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่มี

 

รศ.ธนพร กล่าว สรุปการเขียนกฎหมายแบบนี้ทำให้คนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรเกินควร ไม่ได้ปฎิเสธว่าทรัพยากรเป็นของมีค่าต้องกำกับ ซึ่งกฎหมายประมงก็ทำให้เห็นว่าว่ารูปแบบในการกำกับก็ทำได้ แต่การไปสร้างอุปสรรคเกินควรใช่หรือไม่ กติกาต่างๆ ควรจะต้องมีการประชุมหารือกับผู้มีส่วนได้เสียก่อน เพื่อให้เกิดความสมดุลพอดีและไม่ต้องสร้างภาระเกินควร ซึ่งแบบนี้สร้างภาระเกินควร

 

จุดยืนของผมในฐานะคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ผมยืนอยู่เคียงข้างกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและพร้อมที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้ทุกเวที ในเรื่องนี้จะวัดใจกรมประมง จะเห็นความสำคัญกับพี่น้องชาวประมงหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ประมงพื้นบ้านถูกกระทำ กรมประมงในฐานะที่กฎหมายประมงมาตรา 25 กรมประมงดูแลชุมชนประมง ผมก็จะดูว่ากรมประมงจะกล้าที่จะเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านหรือไม่ หรือกล้าที่จะเป็นปากเสียงให้กับประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ”

 

สำหรับหน่วยงานที่ดูแลทรัพยากรทางทะเล 3 หน่วยงานได้แก่ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งมี พ.ร.บ.ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งฯ 2.กรมประมง ก็มี พ.ร.ก.การประมงฯ  และ 3.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ก็จะมี พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งทั้ง 3 กรม แนวปฏิบัติติไม่เหมือนกันเลย แล้วอย่างนี้จะให้ชาวบ้านทำอย่างไร  ซึ่งการออกกฎหมายเป็นการสร้างภาระเกินควร ทั้งที่จริงการใช้กับประมงพื้นบ้านจะต้องใช้แนวทาง พ.ร.ก.การประมงฯ เป็นหลัก เพราะเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบบริหารจัดการทรัพยากรสมัยใหม่และใช้ข้อมูลทางวิชาการมาประกอบทุกขั้นตอน

 

กฎหมายประมงก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนของท้องทะเลแต่วิธีการที่จะทำให้ทะเลไทยมีความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืน หมายถึงมีความหลากหลายทางชีวภาพทรัพยากร อุดมสมบูรณ์เพราะปลาไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นเขตอุทยาน หรือว่าไม่ใช่เขตอุทยาน เป้าหมายเดียวกันแต่วิธีการบริหารจัดการแตกต่างกัน กฎหมายประมงมีความก้าวหน้า เป็นมาตรการกำกับที่ดูแลเป็นสากล และไม่สร้างอุปสรรคจนเกินควร ใช้หลักวิชาการในกำกำกับทรัพยากร “

 

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

 

ประมงพื้นบ้าน ตามหลักไอยูยู จัดเป็นกลุ่มวิถีชาวบ้าน รักษาทรัพยากรประมงให้ยั่งยืนอยู่แล้ว เพราะเครื่องมือประมงประสิทธิภาพต่ำมาก เพราะฉะนั้นกฎหมายประมงจึงได้ออกแบบมาเพื่อไปจัดการสร้างอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจนเกินควร  ดังนั้นในมาตรา 65 สร้างอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยการให้กับประชาชนเกินสมควรและจะเป็นภาระให้กับประชาชน

 

โดยสรุป ประกาศระเบียบกระทรวงอุทยานฯ จะต้องปรับปรุง มีลักษณะข้าราชการเป็นเจ้านายประชาชน เพราะจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาต ขณะที่กรมประมงชาวบ้านทำได้ กรมจะขอติดตาม อย่างนี้ วิน-วิน  คราวนี้ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกฯที่ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

“ท่านรองนายกฯ ประวิตร ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ท่านต้องพิสูจน์ตัวเองว่าท่านยืนหยัดอยู่บนวิถีการทำประมงที่ยั่งยืนและไม่ใช่การสร้างภาระจนเกินควรให้กับประชาชน โดยเฉพาะใน "ยุคโควิด" แบบนี้ ใช้ชีวิตยากลำบากอยู่แล้ว รวมทั้งในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง จะเป็นการวัดใจว่าให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้านหรือว่าให้ความสำคัญกับประมงขนาดใหญ่เท่านั้น” รศ.ธนพร  กล่าวย้ำ ในตอนท้าย