บีโอไอสั่ง 16 สำนักงานลุยหนัก ดึงลงทุน FDI แข่งเพื่อนบ้าน

29 ส.ค. 2564 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 00:35 น.

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เผยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2564 มีโครงการของคนไทยและจากต่างประเทศยื่นขอรับการส่งเสริม 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% มูลค่าเงินลงทุน 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

จากข้อมูลข้างต้น ทางบีโอไอคาดในปีนี้การขอรับการส่งเสริมในปีนี้ ทั้งในส่วนของการลงทุนของคนไทยและ FDI จะเป็นไปตามเป้าหมายขอรับการส่งเสริมที่ 5 แสนล้านบาทหรือไม่ อย่างไร หรืออาจมากกว่า 5 แสนล้าน “นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์” รองเลขาธิการบีโอไอ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยภาพรวมยังเป็นไปในทิศทางบวก

 

-คาดทั้งปีขอส่งเสริมเกิน 5 แสนล้าน

นายนฤตม์ กล่าวว่า การลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดว่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งปี 2564 จะมากกว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งจากการลงทุนของคนไทยและต่างชาติ ปัจจัยสำคัญคือ การควบคุมการระบาดของโควิดในโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ในวงจำกัดให้ได้ พยายามไม่ให้ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน เพื่อไม่ให้กระทบกับ Supply Chain ของอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังขยายตัวได้ดี และมีการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

 

บีโอไอสั่ง 16 สำนักงานลุยหนัก ดึงลงทุน FDI แข่งเพื่อนบ้าน

 

-พลังงานไฟฟ้ามาแรงไทยแห่ลงทุน

อย่างไรก็ดีในส่วนโครงการของคนไทยขอรับการส่งเสริมก็มีแนวโน้มที่ดี โดยในช่วงครึ่งปีแรก โครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน 351 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 44% ของจำนวนโครงการทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึง 44% จากปีก่อน เงินลงทุนรวม 80,950 ล้านบาท ขยายตัว 38%  ขณะที่โครงการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ มีจำนวน 204 โครงการ เพิ่มขึ้น 8% เงินลงทุนรวม 214,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากปีก่อน

 

สำหรับการลงทุนที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นหรือข้างมาก ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม การผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกิจการโรงแรม 

 

บีโอไอสั่ง 16 สำนักงานลุยหนัก ดึงลงทุน FDI แข่งเพื่อนบ้าน

 

ส่วนโครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และการให้บริการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ยังมี SMEs ในกลุ่มกิจการด้านเทคโนโลยีที่มีการลงทุนมากขึ้นด้วย เช่น การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีชีวภาพ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

 

ทั้งนี้ตั้งแต่บีโอไอประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา บีโอไอพยายามผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ผ่านการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนที่มีการใช้ทักษะแรงงานที่สูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการเหล่านี้ได้เริ่มส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

 

-เม็ดเงิน FDI พุ่ง 3.8 เท่า

ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 403 โครงการ เงินลงทุนรวม 278,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีเงินลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น (42,773 ล้านบาท) สหรัฐอเมริกา (24,131 ล้านบาท) จีน (18,615 ล้านบาท)  สิงคโปร์ (18,580 ล้านบาท) และไต้หวัน (14,194 ล้านบาท) 

 

FDI ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในกิจการบริการและสาธารณูปโภค เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้า นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม การขนส่งทางอากาศ และโรงแรม รวมกว่า 1 แสนล้านบาท  รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เงินลงทุนรวม 56,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 65% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ Smart Devices เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกขยายตัวสูง  กลุ่มนี้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจระยะยาว มีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความพร้อม มีระบบสาธารณูปโภคและบุคลากรที่มีคุณภาพ”    

 

สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มี FDI เข้ามามาก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 26,442 ล้านบาท   อุตสาหกรรมไบโอเทค 19,745 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 18,685 ล้านบาท  อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 12,951 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 12,542 ล้านบาท  แต่ถ้ามองในแง่จำนวนโครงการ ส่วนใหญ่เป็นคำขอในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (64 โครงการ) อุตสาหกรรมดิจิทัล (50 โครงการ) และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (42 โครงการ)

 

-จับตารายใหม่ทะลักหลังโควิดคลี่คลาย

ทั้งนี้โครงการต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งปีแรก จะเป็นการขยายการลงทุนของบริษัทเดิมที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วเป็นหลัก จำนวน 317 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 79% ของโครงการทั้งหมด และมีเงินลงทุน 256,938 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 92% ของทั้งหมด แสดงถึงความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในไทย จึงตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่

 

“สำหรับนักลงทุนรายใหม่ ๆ บางรายจำเป็นต้องเดินทางมาดูที่ตั้งโรงงานหรือเจรจากับผู้ร่วมทุนด้วยตัวเอง ขณะที่การเดินทางในช่วงที่โควิดระบาดหนักทำได้ลำบากและมีความเสี่ยง ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น เชื่อมั่นว่าจะมีบริษัทต่างชาติรายใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนในไทยอีกมาก” 

 

บีโอไอสั่ง 16 สำนักงานลุยหนัก ดึงลงทุน FDI แข่งเพื่อนบ้าน

 

-แห่ลง EEC มากสุด-เม็ดเงินลงภาคใต้สูงสุด

รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่า สำหรับในแง่พื้นที่การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564  อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  จำนวน 232 โครงการ เงินลงทุนรวม 126,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และถุงมือทางการแพทย์  

 

สำหรับการลงทุนในภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคใต้ 58 โครงการ เงินลงทุนสูงถึง 135,450 ล้านบาท เนื่องจากมี 2 โครงการใหญ่ คือ โรงไฟฟ้าและนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดสงขลา ลงทุนรวมกว่า 1 แสนล้านบาท  ภาคกลาง 365 โครงการ เงินลงทุน 66,680 ล้านบาท  ภาคเหนือ 38 โครงการ เงินลงทุน 26,040 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 โครงการ เงินลงทุน 5,100 ล้านบาท และภาคตะวันตก 33 โครงการ เงินลงทุน 12,520 ล้านบาท นอกจากนี้ เป็นการลงทุนในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม จำนวน 208 โครงการ เงินลงทุน 184,840 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี เพราะการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจะมีประสิทธิภาพกว่าโรงงานทั่วไปที่ตั้งอยู่นอกนิคมฯ

 

- แพ็กเกจได้ผลญี่ปุ่นแก่ลงทุน IBC

สำหรับทิศทางนโยบายในช่วงนี้  บีโอไอให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ควบคู่กับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว  โดยนอกจากมาตรการที่มีอยู่ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มาตรการส่งเสริม SMEs มาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทย  เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอได้ออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการวิจัย พัฒนา และฝึกอบรม  มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกำลังขยายตัวมาก  การเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ด้าน Smart Packaging  การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งออกมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพกิจการเดิมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และกำลังเตรียมเสนอมาตรการยกระดับผู้ประกอบการไปสู่ Industry 4.0 ร่วมกับ EEC และ สวทช.  

 

นอกจากนี้ ยังได้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ให้จูงใจมากขึ้น โดยเพิ่มขอบข่ายให้ครอบคลุมการให้กู้ยืมเงินแก่วิสาหกิจในเครือ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งแต่ปรับนโยบาย BOI ครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมกิจการ IBC จำนวนกว่า 300 โครงการ โดย 40% มาจากญี่ปุ่น รองลงมาคือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และฝรั่งเศส     

 

-สั่ง 16 สนง.บีโอไอลุยดึงลงทุน

สำหรับกิจกรรมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในเดือนที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า บีโอไอยังเดินหน้าจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยสำนักงานใหญ่และสำนักงานในต่างประเทศทั้ง 16 แห่ง โดยได้ปรับรูปแบบเป็นออนไลน์มากที่สุด ยกเว้นบางประเทศที่โควิดระบาดไม่มากนัก ก็ยังคงพบปะนักลงทุนแบบปกติได้บ้าง รูปแบบกิจกรรมที่บีโอไอดำเนินการมีหลากหลาย เช่น การลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อชั้นนำ การจัด Webinar ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร โดยตลอดปี 2564 บีโอไอมีแผนจัด Webinar การลงทุนทั่วไปจำนวน 45 ครั้ง และ Webinar รายสาขาจำนวน 90 ครั้ง รวมทั้งการประชุมเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และเจาะนักลงทุนเป็นรายบริษัทด้วย