จากกรณีตัวแทนเกษตรกรร้องเรียนน้ำท่วมบริเวณคลองลำปลาทิว เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขัง อาจส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายได้นั้น
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีข้อห่วงใยและได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้ กอนช. เร่งหาสาเหตุพร้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยพบว่าสาเหตุหลักทำให้พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้การระบายน้ำออกสู่แม่น้ำนครนายกเป็นไปด้วยความล่าช้า
เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำนครนายกมีระดับสูงกว่าระดับน้ำภายในคลองประตูระบายน้ำ ขณะเดียวกัน ไม่สามารถระบายน้ำท่วมในเขตหนองจอกออกสู่อ่าวไทยผ่านจังหวัดสมุทรปราการได้ เนื่องจากเกิดเหตุน้ำท่วมบริเวณอำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง และอำเภอเมืองสมุทรปราการ โดยเฉพาะบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการระบายน้ำที่ท่วมนาข้าวบริเวณคลองลำปลาทิว โดยกรมชลประทาน ดำเนินการปรับลดการระบายน้ำลงคลองแนวดิ่ง ตั้งแต่คลอง 1-17 และระบายน้ำออกทางคลองแนวขวาง ทั้งคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และคลองหกวาสายล่าง
เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เพื่อลดมวลน้ำที่จะลงสู่คลองบางขนาก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบในคลองนครเนื่องเขตและคลองพระองค์ไชยานุชิต ทำให้ระดับน้ำลดลง สามารถระบายน้ำในพื้นที่ได้ต่อไป
พร้อมเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง โดยเบี่ยงทางน้ำผ่านทางคลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสำโรง ซึ่งมีศักยภาพในการสูบน้ำรวม 192 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหากไม่มีฝนตกลงมาหนักอีกในช่วงนี้ คาดว่าภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวก็จะคลี่คลายลงไปในที่สุด
“หน่วยงานเกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังในการเร่งระบายน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่างของบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู และพื้นที่โดยรอบเพื่อเร่งระบายน้ำออกลงสู่ทะเล โดยปัจจุบันพบว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว” ดร.สมเกียรติ กล่าว
กอนช. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 8 กันยายน 2564 นี้ จะลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามรับฟังสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขน้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ตามข้อสั่งการรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
โดยจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนี้ไม่ให้เกิดซ้ำ รวมถึงวางมาตรการในการป้องกันผลกระทบในพื้นที่ระยะยาวด้วย
เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
กทม. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
สถานการณ์ประจำวันที่ 2 กันยายน 2564
ลักษณะอากาศทั่วไป : พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะไหหลำ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล : มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) : พื้นที่กรุงเทพมหานครฝนปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่ จุดวัดคลองสิบสอง-ถนนประชาสำราญ เขตหนองจอก 82.5 มม. คลองบางนา-ศรีนครินทร์ เขตบางนา 68.0 มม. สำนักงานเขตวัฒนา 55.0 มม. สำนักงานเขตห้วยขวาง 51.0 สำนักงานเขตประเวศ 49.5 มม. และศูนย์ป้องกันน้ำท่วมน้ำท่วมฯ เขตดินแดง 25.0 มม.
ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ
รายงานค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ (2 กันยายน 2564)
- ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤติ +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.40 ระดับปกติ
- ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤติ +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.97 ระดับวิกฤติ
- ประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤติ +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.59 ระดับปกติ