การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้เกษตรกรชาวสวนยางทุกช่วงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 1,407,921 ราย ซึ่งเริ่มคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
ในปีนี้ กยท.ได้มีการพิจารณาและคัดเลือก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเป็นผู้ถือหุ้น มีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือ และมีสาขา จุดบริการลูกค้า ตลอดจนตัวแทนประกันกระจายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่า พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับความสะดวกในการประสานงานและการดูแลเป็นอย่างดี
ล่าสุด กยท. ได้ปล่อยลิงค์ คลิกที่นี่ ตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการประกันอุบัติเหตุกลุ่ม 1.4 ล้านราย ง่ายมาก
แค่กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน
จากนั้นกด "ค้นหา"
สำหรับการประกันภัยอุบัติเหตุมีอะไรบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง
นายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีปัญหา เกษตรกรที่เสียชีวิต แล้วบริษัทประกันยังไม่จ่าย ในส่วนของ บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย มี 50 ราย และของบริษัท ทูน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีกว่า 2 พันราย จึงได้ส่งให้กับ คปภ. พร้อมกับมีการแต่งตั้งคุณอรอนงค์ อารินวงค์ บอร์ด กยท. ในฐานะประธานฯ จัดการเรื่องนี้
“ในอดีตการทำสัญญาของ บมจ.ไทยไพบูลย์ ประกันภัย ให้คุ้มครองย้อนหลังไป 2 ปี พอย้อนหลังไป 2 ปี บางคนมาตรวจเงื่อนไข ก็มีสิทธิได้รับในฐานทายาทที่รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ก็มีการแจ้งไว้ พร้อมให้กลับไปดูว่าทางทายาทได้มีการแจ้งความหรือไม่ หรือบันทึกประจำวันหรือไม่ พอหาไม่ได้เรื่องก็ค้างคาอยู่ในลักษณะนี้ ก็ต้องทำให้จบ
“ส่วน "บมจ.ทิพยประกันภัย” สิทธิพิเศษไม่มี มีอยู่อย่างเดียวจะมีสำนักงานทั่วประเทศ ทุกจังหวัดและทุกอำเภอ ถ้าหากเกษตรกรเสียชีวิตก็แจ้งจังหวัดนั้นแล้วลงตรวจสอบการเสียชีวิตได้ทันที และเมื่อเอกสารครบถ้วนก็สามารถจ่ายเงินได้ภายใน 15 วัน ค่าอุบัติเหตุจ่ายภายใน 45 วัน ก็มีการรับปากไว้ แต่เราอยากจะทำหรือไม่ ล่าสุดก็บอกตรงว่าไม่อยากทำประกันกับบริษัทแบบนี้แล้ว เบื่อเพราะเกษตรกรค้างจ่ายเป็นจำนวนมากทำให้ไม่อยากจะทำกับบริษัทประกัน”
แต่จะทำขึ้นเอง ก็มีการพูดคุยหารือกันในสัดส่วนตัวแทนเกษตรกร 4 คน ก็มีแนวคิดจะทำประกันอุบัติเหตุคุ้มครองชาวสวนเอง ถ้าพี่น้องชาวสวนยางเสียชีวิตทุกกรณีจ่ายทันที 4 หมื่นบาท กรอบวงเงินตั้งไว้ปี 2565 น้อยกว่า 250 ล้าน หากเราทำจริง ก็ประมาณ 240 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ 6,000 คน แต่ปีที่ผ่านมาคนเสียชีวิตแค่ 5,000 คน แต่เมื่อเข้าไปที่ประชุมบอร์ด ก็มีคนแย้งว่าจะสามารถรับประกันความเสี่ยงได้ไหม จะมีคนเสียชีวิตแค่ 6,000 ราย แล้ว
"ตอนนี้อยู่ใน "ยุคโควิด" ทำให้เสียชีวิตกันมาก จะทำอย่างไร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตอบไม่ได้ รับประกันก็ไม่ได้ว่าคนเสียชีวิตจะไม่เกินเป้า แล้วถ้าเกิดเป้าจะมีเงินจ่ายไหม ปีนี้ก็เลยต้องจบที่ บมจ.ทิพยประกันภัย แก้ขัดไปพลางก่อน ในปีหน้าค่อยกว่ากันใหม่"
นายสังข์เวิน กล่าวว่า ในระหว่างนี้ก็ต้องตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องดังกล่าวนี้ เพราะต่อไปเจ้าของสวนยางที่มีอายุมาก เสียชีวิตไปจำนวนมากแล้ว ต่อไปก็จะเหลือลูกหลานอายุ 20-30 ปี ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่เสียส่วนใหญ่ ดังนั้นหากทำเองเชื่อว่าดีกว่าให้บริษัทประกันทำ