หลังจากที่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ได้ทำเรื่องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนักลงทุนถึงการจัดทัพกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งใหม่ของกลุ่มซีพี โดยโอนกิจการโลตัสส์ ให้สยามแม็คโคร ที่เป็นของกลุ่มซีพีด้วยกัน ซึ่งล่าสุดประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค.ได้สั่งให้นักกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)เร่งลงไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดเงื่อนไขข้อตกลงที่ทางกลุ่มได้มีไว้กับ กขค.หรือไม่
แหล่งข่าวในวงการค้าปลีก เปิดเผยว่า การจัดทัพกลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งใหม่ของกลุ่มซีพี ซึ่งจะยังผลให้ บมจ.สยามแม็คโครกินรวบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งครบวงจร และยังหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกับ บริษัทซีพีออลล์ หรือเซเว่น-อีเลฟเว่น เนื่องจากภายหลังการดำเนินการแล้วเสร็จ สยามแม็คโครจะมี CPALL (7-11) ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม 65.97% เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง (CPH) 20.43% และ ซี.พี.เมอแชนไดซิ่ง (CPM ) 10.21%
ทั้งนี้การกระทำของกลุ่มซีพีที่ให้ดำเนินการจัดกลุ่มธุรกิจใหม่และให้มีการโอนกิจการค้าปลีก ค้าส่งภายในเครือโดยไม่ต้องหารือหรือสอบถามไปยังคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก่อนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ทางกลุ่มธุรกิจดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับสำนักงานแข่งขันฯและบอร์ด กขค.ใด ๆ เลย จึงไม่มีความจำเป็นต้องรายงาน หรือขอความเห็นชอบใด ๆ
ขณะที่เงื่อนไขการรับโอนกิจการที่ว่านี้ มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่ารวมไปถึงบรรดาทรัพย์สินหนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะหมายรวมไปถึงบรรดาลูกหนี้การค้า บรรดาข้อตกลงทางการค้า ซัพพลายเออร์ทั้งหลายทั้งปวงที่โลตัสส์เคยมีอยู่ จากนี้จะต้องถูกโยกไปรวมอยู่ใต้ปีกของสยามแม็คโครทั้งหมด ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า หากซัพพลายเออร์ที่เคยทำสัญญาจัดส่งสินค้าให้แก่สยามแม็คโครและโลตัสส์แยกเป็น 2 3 4 สัญญา เมื่อทั้งสองบริษัทผนวกเข้ามาเป็นเครือเดียวกันเช่นนี้ จะส่งผลไปถึงการจัดทำข้อตกลงใหม่ ส่งผลไปถึงการใช้ข้อมูล หรือ Data ใหม่ที่หมิ่นเหม่ต่อข้อท้วงติงและข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐหรือไม่ เรื่องนี้ใครจะตรวจสอบได้
ด้วยเหตุนี้ เมื่อประธานบอร์ด กขค.ออกมาเปิดเผยกับสื่อว่า กำลังให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานฯได้ตรวจสอบว่า กรณีการโอนกิจการดังกล่าวเป็นการผิดเงื่อนไข 7 ข้อที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดไว้หรือไม่ ทำให้ผู้ที่เฝ้าติดตามกรณีอนุมัติควบรวมกิจการค้าปลีก ค้าส่งยักษ์มาตั้งแต่ต้นได้แต่ส่ายหัว และเห็นว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นผลมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มแข็ง มีคณะกรรมการแข่งขันฯก็เหมือนไม่มี
ทั้งนี้ เงื่อนไข 7 ข้อที่ กขค.กำหนดให้กลุ่มซี.พี.ต้องปฏิบัติในการควบรวมกิจการกับเทสโก โลตัสนั้น ประกอบด้วย 1.ห้ามธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี ไม่รวมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 2.หลังควบรวมแล้วให้เพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
3.หลังควบรวมแล้ว ห้ามมิให้ใช้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด 4. ให้คงสัญญาที่ทำไว้กับซัพพลายเออร์อย่างน้อย 2 ปี 5. กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอม กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นเวลา 30-45 วัน เป็นเวลา 3 ปี 6.ให้รายงานผลประกอบการต่อ กขค. เป็นเวลา 3 ปี และ 7.หลังควบรวมแล้วให้จัดทำ code of conduct เผยแพร่ต่อสาธารณะ
"การโยกโอนกิจการของกลุ่มโลตัสส์เข้ามาหลอมรวมอยู่ในแม็คโคร จึงหมิ่นเหม่ที่ข้อมูลหรือ Data ทั้งหมดของซัพพลายเออร์จะถูกใช้ร่วมกันในข้อ 3 และข้อ 4 และอาจนำมาสู่การเจรจาปรับปรุงสัญญาระหว่างกันใหม่แบบยกกระบิ ขณะที่ผ่านมาเกือบปีของการวบรวมธุรกิจของซีพีกับเทสโก้โลตัสนั้น ทางกลุ่มซีพีมีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ให้ไว้กับสำนักงานแข่งขันทางการค้าหรือไม่ โดยเฉพาะเงื่อนไขข้อ 2 ที่ต้องส่งเสริมเพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 10 % ต่อปี ส่วนนี้ บริษัทและ กขค.กลับไม่เคยรายงานต่อสาธารณะว่าคืบหน้าถึงไหน”
ขณะที่สิ่งที่ทุกฝ่ายประจักษ์ ในวันนี้ที่เทสโก้ โลตัส ที่ปรับเปลี่ยนเป็นโลตัสส์นั้นมีการเพิ่มสินค้า "เฮ้าส์แบรนด์"ของตนเองเข้ามาในเชลฟ์แทนยี่ห้ออื่น ๆ เกือบหมดแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสำนักงานได้เคยลงไปตรวจสอบหรือไม่
ด้านนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า เผยผ่านสื่อ กรณีการโอนกิจการโลตัสส์ไปอยู่ภายใต้สยามแม็คโคร ถือเป็นธุรกรรมภายในบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดในภาพรวมไปจากเดิมที่เป็นอยู่ เพราะมีเจ้าของเดียวกัน