ถอดบทเรียน “พาราควอต” สู่ ไดควอต ผวาซ้ำรอยแบนใหม่

04 ก.ย. 2564 | 14:52 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2564 | 12:33 น.

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืชน้องใหม่ แทนพาราควอต “ดร.จรรยา” ถอดบทเรียนพาราควอต หากเกษตรกรใช้จริง ผวาซ้ำรอยแบนใหม่อีกรอบ

ดร.จรรยา มณีโชติ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก สาระน่ารู้ เรื่อง "ไดควอต"  (Diquat) ตอนที่ 2 เจาะประวัติไดควอต ถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.  2498 โดยบริษัท ICI (Imperial Industries Laboratories) ประเทศอังกฤษ (ซึ่งปัจจุบัน คือ บริษัท ซินเจนทา) และถูกวางจำหน่ายเป็นสารกำจัดวัชพืช มานานกว่า 50 ปีด้วยคุณสมบัติที่กำจัดวัชพืชประเภทใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ จึงถูกใช้กำจัดวัชพืชในข้าวสาลี ข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เล่ย์

 

ต่อมาได้ นำไปใช้กำจัดวัชพืชน้ำ และใช้พ่นก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง ทานตะวัน ฝ้าย คาโนล่า และพืชตระกูลถั่ว ในทวีปยุโรปและอเมริกา กลไกออกฤทธิ์ในพืช (Mode of actIon) ไดควอต มีโครงสร้างทางเคมีจัดอยู่ในกลุ่ม Bipyridiliums

 

เช่นเดียวกับ “พาราควอต” มีกลไกออกฤทธิ์จัดอยู่ในกลุ่ม D คือ ยับยั้งระบบการสังเคราะห์แสงที่ 1 ทำให้พืชตายอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน เกิดจาก "ไดควอต" ได้รับอีเล็คตรอนจากกระบวนการสังเคราะห์แสง และทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็น superoxide ion  ที่เป็นพิษต่อเซลเมมเบรน ทำให้เซลแตกและพืชแห้งตายได้อย่างรวดเร็ว

 

การเข้าสู่ต้นพืชและการเคลื่อนย้ายไดควอตเข้าสู่ต้นพืชทางใบเท่านั้น เมื่อตกลงสู่ดินจะถูกอนุภาคดินดูดยึดไว้อย่างเหนียวแน่น จึงไม่เข้าสู่พืชทางราก  มีระยะปลอดฝนหลังพ่น 1 ชั่วโมง และเคลื่อนย้ายในต้นพืชได้เล็กน้อย ความเป็นพิษของ "ไดควอต"

สาร "ไดควอต" หรือ Diquat

WHO” จัดไดควอต อยู่ในกลุ่มสารที่มีความเป็นพิษปานกลาง (Moderate toxicity)  ระคายเคืองต่อตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดต้อกระจก (cataract)  อาจทำให้เลือดกำเดาไหล เยื่อจมูกอักเสบ และเล็บมีอาการผิดปกติได้ มีค่าพิษเฉียบพลัน (Oral Acute Toxicity) LD50 (หน่วยเป็น มก./กก.) ของไดควอต (technical grade) ต่างกันตามชนิดสัตว์ทดลอง

  • หนู (rat)       = 215-235
  • หนู (mouse) = 125
  • กระต่าย        = 100
  • สุนัข           = 100-200
  • วัวตัวเมีย    = 30

สำหรับปริมาณที่คนกินไดควอตเข้าไปแล้วเสียชีวิต (Acute Lethal Dose) ที่ระบุไว้โดย  WHO อยู่ที่ประมาณ 2 เท่าของพาราควอต

      ไดควอต 6-12 กรัม

      พาราควอต 3-5 กรัม

สาเหตุหลักที่ทำให้ไดควอตถูกแบนในยุโรป เมื่อปี 2561 คือ European Food Safey Agency หรือ  EFSA ได้ประเมินความเสี่ยงจากการใช้ไดควอต พบว่า ถึงแม้จะใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันขณะพ่น ไดควอตสามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้พ่น ในปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย AOEL

 

งานวิจัยล่าสุดของ Yastrub และคณะ ในปี 2563 พบว่า ในขณะพ่น ไดควอตสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายผู้พ่นเป็นปริมาณสูงถึง 0.0154 มก./ กก. หรือ สูงเป็น  77 เท่าของค่า AOEL

 

AOEL หรือ Acceptable Operator Exposure Level    หมายถึง ปริมาณสูงสุดของสารออกฤทธิ์ ที่ไม่ทำให้เกิด ผลเสียต่อสุขภาพของผู้พ่น

(ค่า AOEL ของไดควอต เท่ากับ 0.0002  มก. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก.)

 

นอกจากผู้พ่นแล้ว ยังพบว่าผู้คนในละแวกใกล้เคียง ยังมีโอกาสได้รับไดควอตเข้าสู่ร่างกายจนเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย AOEL ได้เช่นกัน

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ สิ่งปนเปื้อน (Impurities) ที่พบอยู่ในผลิตภัณฑ์ไดควอต ที่เป็นพิษต่อคน 3 ชนิด คือ

1. Ethylene dibromide ( EDB) ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคน (Propable human carcinogen)

2. Total terpyridines ซึ่งมีความเป็นพิษตอคนสูงมาก

3. 2',2 bipyridyl  ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenic, tetragenic acivity)

 

ดังนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  ได้กำหนดค่าสูงสุดของสิ่งปนเปื้อนทั้ง 3 ชนิดในไดควอตไว้ ดังนี้

  • EDB  0.01 g/kg
  • ️Total terpyridines 0.001 g/kg
  • 2,2' bipyridyl 0.75 g/kg

 

นอกจากนั้น ยังเริ่มมีรายงานวิจัย พบว่า ไดควอต ทำให้มีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันในคน มากกว่าพาราควอต

 

ถอดบทเรียน “ไดควอต” จากพาราควอต

ถึงแม้ว่า EU จะแบนทั้ง "พาราควอต" และ "ไดควอต" แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังใช้สารทั้ง 2 ชนิด อยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย  เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกประเทศที่มีการใช้ไดควอต จะมีการประเมินความเสี่ยง จากการใช้งานจริงในแต่ละประเทศ

 

จะเห็นได้ว่า เมื่อ EFSA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านประเมินความปลอดภัยของสารเคมีใน EU  มีหลักฐานงานวิจัยที่น่าเชื่อถือว่า “ ไดควอต” เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และคนในบริเวณใกล้เคียง EU จึงประกาศแบนไดควอต และให้ระยะเวลาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประมาณ 2 ปีเพื่อเตรียมตัวเลิกใช้ไดควอตทั่วยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

 

แต่ประเทศที่ยังคงอนุญาตให้ใช้ไดควอต เพราะผลการประเมินความเสี่ยงยังอยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัยที่ยอมรับได้ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้ใช้ไดควอตในประเทศไทย สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ 3 ประเด็น คือ

 

       1. เรื่องการกำหนดค่ามาตรฐานของสิ่งปนเปื้อน 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์ไดควอต  ให้สอดคล้องกับตามมาตรฐานของ FAO

       2. ควรกำหนดข้อบังคับให้เกษตรกรใช้อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีที่เหมาะสมในขณะใช้ไดควอต เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้รับพิษ เช่นเดียวกับที่พบในยุโรป

      3. หลังการจำหน่ายไดควอตไปแล้ว ควรมีงานวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยง ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียน

 

ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การใช้ “ไดควอต” อย่างปลอดภัยและยั่งยืนในอนาคตรู้เขารู้เราเรื่องสารกำจัดวัชพืช และหวังว่าในอนาคต จะไม่ซ้ำรอย "พาราควอต" ที่โดนแบนไปล่าสุด