ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดกลุ่มผู้รับเหมากังวลถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อาจไม่พ้นการถูกเอกชนฟ้องเหมือนเดิม เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังยืนยันเปิดประมูลขายเอกสารการประกวดราคา (TOR) พร้อมเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกแบ่งเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิค 30 คะแนนและด้านราคาและผลตอบแทนการลงทุน 70 คะแนน ถึงแม้ว่าศาลปกครองมีการจำหน่ายคดีและยกเลิกคดีบางส่วนก็ตาม
ที่ผ่านมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเดินหน้าประกาศประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยระบุว่า คดีความกรณีที่เอกชนฟ้องร้องเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนฯในโครงการดังกล่าวได้ข้อยุติแล้ว แต่ยังคงเหลือคดีบางส่วน ปัจจุบันข้อหานี้ถึงที่สุดแล้ว ทำให้ไม่มีผลต่อการดำเนินการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันรฟม.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีที่เอกชนฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกประมูลโครงการฯ จำนวน 5 แสนบาท 2.คดีที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 ยกเลิกการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกและยกเลิกการประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
“ถึงแม้ว่าบางคดียังอยู่ระหว่างในกระบวนของศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตฯนั้น แต่การประมูลโครงาการฯ รอบใหม่สามารถดำเนินการต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีสิ้นสุดลง เพราะที่ผ่านมาคดีความดังกล่าวยืนยันได้ว่าโครงการฯ นี้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนเกณฑ์การประมูลรอบใหม่จะใช้เกณฑ์เทคนิค 30 คะแนนและราคา 70 คะแนน หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36”
รายงานข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า กรณีคดีความที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของบริษัทเอกชนที่มีการฟ้องต่อ รฟม.นั้น เป็นแค่ประเด็นปลีกย่อยที่มาจากศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีฟ้องรฟม.กรณีที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า หาก รฟม.นำเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกันในสัดส่วน 70-30 จะไม่ถูกบริษัทเอกชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องอีกครั้ง
“อย่าลืมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือสีม่วงใต้ ส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้า สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไปนับหมื่นล้านบาท และยังทำให้หน่วยงานรัฐคือ รฟม.เองก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปนับพันล้านบาท ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลเอง คือผู้ที่ต้องแบกรับความล้มเหลวทั้งหมด”
ส่วนการเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกในโครงการดังกล่าว ยังคงถูกฟ้องไม่จบสิ้น ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีรายงานผลสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ( DSI) ที่สรุปว่าผู้ว่าการ รฟม.และกรรมการคัดเลือกรวม 7 คน มีส่วนในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนในโครงการฯมาใช้ เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 157 และกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไป เชื่อว่าการนำเอาหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเดิมที่รฟม.ไปขอจำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลับมาประกาศใช้ จึงเป็นการคิดอ่านคิดเอง ของ รฟม.เท่านั้น
ถึงแม้ว่ารฟม.ยืนยันที่จะนำเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกแบบ 70 คะแนนและ 30 คะแนน ที่รฟม.มาใช้นั้น ที่ผ่านมา ดร สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนส่ง เคยออกมาทักท้วงและนำเสนอข้อมูลแล้ว หากนำเอาเกณฑ์ด้านเทคนิคและด้านราคามาใช้รวมกัน ดูขัดแย้งกับเหตุผลที่รฟม.กล่าวอ้างถึงเส้นทางก่อสร้างที่ต้องสร้างอุโมงค์และทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องใช้เกณฑ์พิเศษ ขณะเดียกันที่ผ่านมารฟม.เคยใช้เกณฑ์คัดเลือกปกติในโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเช่นกัน หากนำเอาเกณฑ์พิจารณคัดเลือกในรูปแบบใหม่กลับมาใช้ประกวดราคาจะทำให้ รฟม.ต้องสูญเสียงบประมาณมากขึ้นกว่าการใช้เกณฑ์ราคา 100%
“อยากฝากข้อคิดไปยังบอร์ด รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯด้วยว่า เหตุใดจึงยังคงปล่อยให้ฝ่ายบริหาร รฟม.ยืนยันที่จะนำเอาเกณฑ์ประมูลคัดเลือกดังกล่าวมาใช้ ทั้งที่มีข้อมูลที่มีความย้อนแย้งในตัวเองและเป็นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่หาได้ตั้งอยู่บนหลักการ ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)และ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการเอาไว้เมื่อ 29 มกราคม 2563 เหตุใดจึงไม่คิดที่จะให้ฝ่ายบริหารรฟม.นำเสนอหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ, สคร.และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) รวมทั้ง ครม.ก่อนหรือ จะได้ข้อยุติเสียทีว่ารฟม.มีอำนาจที่จะผุดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเองอยู่หรือไม่”