ช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 กัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทยในกลุ่มอาเซียน (รองจากมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์) โดยการค้าไทย-กัมพูชามีมูลค่าการค้ารวม 140,652 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 0.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (การค้าไทย-กัมพูชาคิดเป็นสัดส่วน 1.49 % ที่ไทยค้ากับโลก) โดยไทยส่งออก 123,191 ล้านบาท (+6.73%) นำเข้า 17,460 ล้านบาท (-33.10%)
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชา 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป, เครื่องดื่ม, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,น้ำตาลทราย และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากกัมพูชา 5 อันดับแรก ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้, สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์, ลวดและสายเคเบิ้ล, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ด้านการลงทุน จากข้อมูลของ Cambodia Investment Board : CIB เผยถึงภาพรวมการลงทุนของต่างชาติในกัมพูชาที่ขอรับการส่งเสริมตั้งแต่ปี 2537 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ไทยอยู่อันดับ 9 (จากเดิมเคยอยู่อันดับต้น ๆ ) ของนักลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชา มูลค่าการลงทุน 1,041.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐฯ ฮ่องกง ไต้หวัน)
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ประธานสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมการลงทุนและภาคการค้าของไทยในกัมพูชาชะลอตัวลงไปมาก จากการเดินทางไปมาเพื่อเข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชามีความไม่สะดวก ขณะที่ด่านการค้าชายแดนก็เปิดเพียงบางส่วน ยังดีที่ระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าระหว่างกันตามแนวชายแดนยังสามารถข้ามไปมาได้ ทำให้สินค้าแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมในกัมพูชายังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
“ภาพรวมเวลานี้มีนักธุรกิจไทยกี่รายเข้าไปทำการค้า-การลงทุนในกัมพูชา ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังเป็นข้อมูลเก่าก่อนสถานการณ์โควิด เวลานี้สถานการณ์โควิดในไทยและกัมพูชาเริ่มคลี่คลาย ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีของไทยประกาศเปิดประเทศเมื่อไร เรามีแผนจะจัดประชุมหารือผ่านระบบ Zoom หรือระบบออนไลน์ กับทางกัมพูชา ซึ่งอาจจะเชิญระดับรองนายกฯ หรือระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ของกัมพูชามาอัพเดตข้อมูลให้กับนักธุรกิจไทยทราบว่าช่วงที่ผ่านมากัมพูชามีสิทธิประโยชน์การค้าการลงทุนอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเอกชนไทยในการรุกเข้าไปทำธุรกิจ การค้า การลงทุนในกัมพูชาระลอกใหม่”
อย่างไรก็ดีภาคธุรกิจรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาก่อนหน้านี้ อาทิ กลุ่มไทยเบฟ, เอสซีจี,เครือซีพี, ปตท. กลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ล่าสุด (30 ส.ค.64) 7-Eleven ได้เปิดสาขาแรกที่กรุงพนมเปญ คาดว่าจะทำให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในกัมพูชามีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น ทั้งการแข่งขันกับแบรนด์ข้ามชาติและแบรนด์ท้องถิ่นของกัมพูชาเอง
ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ ฮงเส็งกรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ที่มีฐานการผลิตในกัมพูชา เผยว่า เกือบ 2 ปีของสถานการณ์โควิด และจากผลกระทบจากที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Everything But Arms : EBA)ในสินค้าเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2563 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนของบริษัทในกัมพูชาที่มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อใช้สิทธิ EBA ส่งออกสินค้าไปตลาดอียู
“ล่าสุดบริษัทได้ลดกำลังผลิตและลดคนงานลงจากมากกว่า 1,000 คน ลงเหลือเพียง 60-70 คน หรือเหลือไม่ถึง 10% จากความน่าสนใจในกัมพูชาลดลง ทางกลุ่มกำลังพิจารณาอาจจะปิดการผลิตลงชั่วคราวเพราะผลกระทบ EBA ทำให้ไม่มีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ร่วมกับลูกค้า และจะใช้ฐานผลิตในไทยมากขึ้น”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3712 วันที่ 9-11 ก.ย. 2564