กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รวมทั้งน้ำท่า และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 10 – 14 กันยายน 2564 ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงฝนตกหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้
1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย ชัยภูมิ จันทบุรี ตราด ระนอง กระบี่ และ พังงา
2. เฝ้าระวังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงล้นทางระบายน้ำล้นอาจส่งผลกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
3. เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่น้ำแควน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และแควหนุมาน แม่น้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานดำเนินการ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ
พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที