รัฐบาลเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับบทบาทประเทศไทย เป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยทุ่มเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งแบบไร้รอยต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่
สำหรับแผนพัฒนาในพื้นที่อีอีซี รวม 168 โครงการ วงเงิน 9.88 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ 1.ระยะเร่งด่วนระหว่างปี 2560-2561 เป็นโครงการที่เร่งดำเนินการทันทีเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซี จำนวน 99 โครงการ วงเงิน 2.92 แสนล้านบาท 2.ระยะกลางระหว่างปี 2562-2564 จำนวน 62 โครงการ วงเงิน 4.14 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วนเพื่อให้โครงข่ายการคมนาคมขนส่งสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้อ่างมีประสิทธิภาพ 3.ระยะต่อไประหว่าง ปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 2.52 แสนล้านบาท เป็นโครงการเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี รวมถึงเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับภูมิภาคอื่นและกับประเทศเพื่อนบ้าน
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในระยะที่ 2 ปี 2564 ซึ่งพบว่าโครงการส่วนใหญ่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 69 โครงการ
คิดเป็น 41% และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 65 โครงการ คิดเป็น 39% โดยเป็นโครงการที่เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานเป็นรูปแบบลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) จำนวน 6 โครงการ คิดเป็น 3% และโครงการที่ยกเลิกออกจากแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 8 โครงการ คิดเป็น 5%
ทั้งนี้โครงการสำคัญที่เร่งดำเนินการก่อสร้างในปี 2564 จำนวน 65 โครงการ อย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค มีเป้าหมายส่งมอบพื้นที่ ภายในเดือนกันยายนนี้
ขณะ ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ได้พิจารณาผลการเจรจาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนแล้ว อยู่ระหว่างส่งสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ
โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ของท่าอากาศยานอู่ตะเภา อยู่ระหว่างการเสนอรายงานการวิเคราะห์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานEHIA เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานจริงและขออนุญาตขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินจากกรมเจ้าท่า (จท.) ให้เป็นไปตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
ส่วน โครงการก่อสร้างทางหลวงสาย3 พัทยา – สัตหีบ ตอน 1 – 3 (ทล.) ยังติดปัญหาเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค โครงการพัฒนาศูนย์การแพทย์ระดับสากล (Medical Hub) กองทัพเรือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯเป็นต้น
สำหรับโครงการที่ยังไม่ดำเนินการและขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2566 จำนวน 20 โครงการ เช่น 1.โครงการก่อสร้างถนนโลจิสติกส์สาย 36-ทช.ชบ.3009 (เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง) จังหวัดชลบุรี วงเงิน 1,796 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบในปี 2567 2.โครงการก่อสร้างถนนสาย ก ผังเมืองรวมชลบุรี จังหวัดชลบุรี วงเงิน 681 ล้านบาท ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการออกแบบ มีแผนสำรวจออกแบบ ปี 2566 เป็นต้น
3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายชลบุรี-นครราชสีมา (ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-ทล.359) วงเงิน 70,500 ล้านบาท ขณะนี้โครงการได้สำรวจศึกษาแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ 4.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 35,340 ล้านบาท ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2565
5.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงศรีราชา-ระยอง ระยะทาง 61 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,383 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 218 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,155 ล้านบาท 7.โครงการทางเดี่ยวสายใหม่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 218 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 39,247 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้หลังปี 2570
ส่วนโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ พบว่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บางโครงการไม่สามารถจัดหาที่ดินได้ ทำให้ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามแผนที่กำหนดไว้ ,โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้,โครงการมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากมีการอุทธรณ์จากผู้เสนอราคา,โครงการติดปัญหาด้านระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ