นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัดหรือ UTA กล่าว ในงานเสวนา EEC Future : เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นเศรษฐกิจไทย จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สนามบินอู่ตะเภาขณะนี้การออกแบบคืบหน้าไปไกลพอสมควร นับจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ได้ยื่นมาสเตอร์แพลนให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ปัจจุบันไม่ได้รอแบบ โดยไม่ทำอะไร ได้มีการลงพื้นที่เพื่อวัดระดับเตรียมพร้อมแล้ว เมื่อการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ยืนยันว่าพร้อมดำเนินการก่อสร้างทันที
ส่วนการพัฒนาโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ เป้าหมายจะไม่ได้เป็นแค่เมืองอุตสาหกรรม แต่จะเป็นไลฟ์สไตล์ซิตี้ ตอบโจทย์การใช้งานครบถ้วน โรงแรม ร้านอาหาร ช็อปปิ้ง สิ่งอำนวยความสะดวก และสมาร์ทซิตี้ อีกทั้งจะเป็นเมืองแห่งการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด (Cashless) เป็นเมืองดิจิทัล ซึ่งจะทยอยพัฒนาบนพื้นที่ 1 พันไร่ ด้วยงบประมาณการลงทุนหลายแสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี UTA ประเมินว่า การลงทุนในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแผนลงทุนเฟสแรก สนามบินอู่ตะเภาต้องรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนตามเป้าหมาย คาดว่าใช้งบประมาณราว 5 หมื่นล้านบาท และหากรวมการพัฒนาแอร์พอร์ตซีตี้ควบคู่กันไปด้วยนั้น คาดว่าในเฟสแรกต้องใช้งบประมาณเกิน 1 แสนล้านบาท และเป้าหมายการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ด้วยงบประมาณราว 2 แสนล้านบาท ตลอดระยะสัมปทาน 50 ปี
“ประเมินว่าเมืองการบินจะสร้างจีดีพีให้กับประเทศ 2.6 แสนล้านต่อปี ในปีที่ 10 เป็นต้นไป ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่าย 1.3 แสนล้านต่อปี และยังกระจายการท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาค ทำให้เจริญอย่างทั่วถึง และสิ่งที่สร้างขึ้นมาไม่ได้ดึงนักลงทุนและต่างชาติ แต่ยังมีเป้าหมายตอบโจทย์คนไทยทุกคน ที่จะสร้างสถานที่ท่องเที่ยว และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อทำให้คนไทยมองว่าได้ประสบการณ์ท่องเที่ยวได้ในประเทศ ลดเงินไหลออกนอกประเทศอีก 6 พันล้านต่อปี รวมสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี”