“จุรินทร์”สั่งรุกส่งออกเต็มพิกัด   พระเอกพยุงเศรษฐกิจไทยปี64

17 ก.ย. 2564 | 02:00 น.

“จุรินทร์”มั่นใจส่งออกไทยทั้งปีโตตามเป้า หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว-เดินหน้าแก้ไขปัญหาส่งออกอย่างเร่งด่วน บูณาการร่วมภาคเอกชน สร้างเซลล์แมนประเทศดันส่งออกไทย พร้อมอีกกว่า 130 กิจกรรมครึ่งปีหลัง

เริ่มมีทิศทางที่สดใสสำหรับภาคการส่งออกของไทย โดยตัวเลข 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออก มูลค่ารวม 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัว 16.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ม.ค.-ก.ค. ขยายตัว 21.47%)

 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 28.73% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ยังเกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไทย ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์มีการผลักดันแผนส่งออกในในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้อย่างชัดเจนและมีการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าการส่งออกไทยทั้งปีน่าจะขยายตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่ 4%

 ทั้งนี้ภาคการส่งออกของไทยถือว่าเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนไปทั่วโลกในขณะนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถึงทิศทางการส่งออกไทย และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อฉายภาพตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการส่งออกที่มีต่อประเทศไทย

“จุรินทร์”สั่งรุกส่งออกเต็มพิกัด    พระเอกพยุงเศรษฐกิจไทยปี64

พระเอกค้ำยันเศรษฐกิจ

 นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่า ทั่วโลกรวมถึงไทยต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้น ซึ่งไทยเองมี 4 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก และการลงทุน แต่ 2 ใน 4 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนอยู่ได้รับผลกระทบ มีเพียงการส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น ที่ยังทำหน้าที่ประคับประคองเศรษฐกิจไทยต่อไปได้

“จุรินทร์”สั่งรุกส่งออกเต็มพิกัด    พระเอกพยุงเศรษฐกิจไทยปี64

7 เดือนแรกโตกว่า 4 เท่าจากเป้าทั้งปี 

 ทั้งนี้เห็นได้จากการส่งออกของไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ต้นปี 2564 (มี.ค. +8.32%, เม.ย. + 13.07%, พ.ค. +41.59%, มิ.ย. +43.82%, ก.ค. +20.26%) ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ 16.20% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกขยายตัวที่ +21.47% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (real sector)

 “การฟื้นตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ไม่ใช่แค่ตัวเลขฐานต่ำของปี 2563 แต่มาจาก 2 ปัจจัย คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงดึงในด้านดีมานต์จากภายนอกประเทศ และการผลักดันและแก้ไขปัญหามากมายโดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นแรงหนุนจากภายใน” นายจุรินทร์ กล่าว

ปรับกลยุทธ์ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

 จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ขอย้ำว่า การที่การส่งออกไทยฟื้นตัวสูงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เป็นผลของการทำงานอย่างหนักของกระทรวงพาณิชย์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการส่งออก, การใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ในทุกรูปแบบ เพื่อให้สามารถเดินหน้าภารกิจงานของกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมการส่งออกได้อย่างไม่สะดุดภายใต้ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศที่เกิดจากวิกฤติโควิด-19, การเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์คุณภาพสินค้าไทย และเร่งพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ ให้สามารถปรับตัวในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้งานเพื่อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีการปรับเพิ่มกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง

 นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์“ตลาดนำการผลิต” รวมถึงดันแผนงานอาหารไทยอาหารโลก

 

สร้างทีมเซลส์แมนประเทศ-จังหวัด

 สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับแนวทางการทำงานของทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดให้เป็นนักการตลาด (เซลส์แมน) เชิงรุก และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างเซลส์แมนประเทศกับเซลส์แมนจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงโอกาสความต้องการสินค้าของตลาดโลกให้แก่ผู้ผลิต / ผู้ส่งออกจากทั่วทุกจังหวัดของประเทศ โดยเน้นเจาะตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพของประเทศเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

 “ทูตพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนประเทศ ในการสร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาด และเชื่อมโยงโอกาสในการส่งออกสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดต่างประเทศ ให้กับผู้ส่งออกไทยจากทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านการบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับพาณิชย์จังหวัดในฐานะเซลส์แมนจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2564 และในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันผ่านการจัดกิจกรรม การเจรจาการค้าออนไลน์ (OBM) ระหว่างผู้นำเข้าต่างชาติกับผู้ส่งออกไทยจากจังหวัดต่าง ๆ รวม 119 ครั้ง สามารถสร้างมูลค่าเจรจาการค้ารวมทั้งสิ้น 414.96 ล้านบาท”

เน้นรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่

 อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังคงเน้นรักษาตลาดเดิม ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพราะเป็นตลาดที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันได้เดินหน้ารุกตลาดใหม่เช่น รัสเซีย อินเดีย ยูเรเซีย มองโกเลียแต่ก็ไม่ทิ้งตลาดเก่าที่เคยเสียไปให้กลับคืนมา โดยเฉพาะตะวันออกกลาง อิรัก ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลก และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก นอกจากนี้กระทรวงฯจะเดินหน้าการเจาะตลาดเมืองรอง เพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยการสร้างพันธมิตรทางการค้า ผ่านการจัดทำ MOU ความร่วมมือ (Mini FTA) ที่ลงลึกระดับ เมือง/รัฐ/มณฑล ที่มีศักยภาพของประเทศเป้าหมาย

เจาะ 3 กลุ่มสินค้ายอดฮิตโลก

 ทั้งนี้สินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดโลก ใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1. สินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึง อาหารสัตว์เลี้ยง 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และ3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและสินค้าเพื่อสุขภาพและอนามัย โดยเฉพาะสินค้าที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก อย่างสินค้าอาหารแห่งอนาคต(future food) ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลักคือ อาหารฟังก์ชั่น (functional food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food) อาหารทางการแพทย์ (medical food) และอาหารอินทรีย์ (organic food) ที่ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ

อัด 130 กิจกรรมครึ่งปีหลัง

 สำหรับในช่วง 5 เดือนที่เหลือกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกอีกไม่ต่ำกว่า130 กิจกรรม ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น กิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ (OBM) มีกำหนดจัด OBM 37 ครั้ง (ก.ย.-ธ.ค.) ซึ่งกิจกรรมหลักที่จะมีการเชิญผู้นำเข้าจากทั่วโลก รวม 6 กิจกรรม โดยมีประมาณการยอดขายรวมทั้งสิ้น 3,625 ล้านบาท, การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ในรูปแบบใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์ รวม 13 งาน, งานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย ในรูปแบบเสมือนจริง,งานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ (TOP Thai Brands/Thailand Week) ในรูปแบบ virtual/ เจรจาการค้าออนไลน์ โดยปรับเปลี่ยนจากการจัดงานในรูปแบบออฟไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้คาดจะส่งผลให้การส่งออกไทยเป็นไปตามเป้าหมาย

หน้า7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3,713 วันที่12-15 กันยายน พ.ศ.2564