นายกิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามสถานการณ์ตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (จิวเวลรี่) ในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปประเทศญี่ปุ่นท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 โดยจากการติดตามสำรวจตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (จิวเวลรี่) ของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2534 - 2563 (ค.ศ.1991 - 2020) พบว่าติดลบประมาณร้อยละ 4.4 และมีขนาดของตลาดลดลงอย่างมากจากวิกฤตฟองสบู่แตกในปี 2540 (ค.ศ. 1997) แต่ในปี 2564 (ค.ศ. 2021) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ถึง 18.1% มาอยู่ที่ 9.7 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท)
เนื่องมาจากกลุ่มผู้บริโภคมีความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น จากการหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งคู่แต่งงานก็มีการปรับงบประมาณจากการฮันนีมูนมาทุ่มกับแหวนแต่งงานมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้อุตสาหกรรมอัญมณีของไทยมีชื่อเสียง ด้วยความชำนาญในการเจียระไนอัญมณีของไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งอันดับ 1 และ 3 ประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินและพลอยสีของโลก โดยมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยไปญี่ปุ่นในปี 2563 อยู่ที่ 7,368.93 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 11.87 แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 2564 พบสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,948.37 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจังหวัดยามานาชินับเป็นตลาดที่ใหญ่และเป็นคู่ที่สำคัญโดยนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นก้าวสำคัญของการเริ่มต้นนโยบายขยายความสัมพันธ์การค้าเชิงลึก ขยายโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดพัฒนาความร่วมมือด้านการตลาด โดยจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจการผลิตอัญมณีเครื่องประดับในส่วนของ SMEs ทั้งสองฝ่าย คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ไม่ต่ำกว่า 5% (15,500 ล้านบาท) ในปีนี้
ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาแนวโน้มของตลาดจิวเวลรี่ในญี่ปุ่นที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พร้อมรับมือกับความต้องการซื้ออย่างทันท่วงที ทั้งในกลุ่มอัญมณีและวัตถุดิบสำหรับทำเครื่องประดับเกี่ยวกับการแต่งงาน ที่ยังคงมีความต้องการสูงและมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยจะเจาะตลาดกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น