เอกชนชี้จีนขอร่วม CPTPP ยังไม่กระทบการค้า-ลงทุนไทย

19 ก.ย. 2564 | 05:31 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2564 | 12:40 น.

เอกชนชี้จีนสนเข้าร่วมCPTPP ยังไม่กระทบกับการค้าการลงทุนของไทยในทันที ต้องรอ11ประเทศตอบรับ ขั้นตอนยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี  แต่ไทยเองต้องเตรียมความพร้อม ขณะที่ความคืบหน้าของไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกนศ.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”กรณีที่จีนได้สมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการในวัน16ก.ย. ที่ผ่านมาว่า แม้ว่าจีนจะสามารถเจรจาเข้าร่วมความตกลงCPTPPได้ ในเบื้องต้น ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าไทยทั้งในแง่ของการค้าการลงทุนในทันที เพราะจีนยังแค่อยู่ในขั้นตอนสมัครเข้าร่วมซึ่งยังต้องรอ 11 ประเทศ ตอบตกลงและยังต้องเจรจารายประเทศ ยังมีอีกหลายขั้นตอนครับซึ่งจีนเองก็ยังสามารถถอนตัวออกมาได้ทุกขั้นตอน ยังต้องใช้เวลาหลายปี แต่จะเป็นโอกาสของจีนในการเข้าไปเจรจาต่อรอง ก่อนที่จะมีอังกฤษหรือประเทศอื่นเข้าไปเพิ่มและยิ่งมีมากประเทศเข้ายิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ

เอกชนชี้จีนขอร่วม CPTPP  ยังไม่กระทบการค้า-ลงทุนไทย

ทั้งนี้สาเหตุที่จีนสนใจเข้าร่วมCPTPP มองว่าจีนคงเห็นประโยชน์ของเรื่อง Value chain ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายการค้าการลงทุน การใช้วัตถุดิบจากประเทศอื่นหรือของจีนเพื่อเพิ่มมูลค่า และยังมีตลาดที่แน่นอน ลดปัญหาการกีดกันการค้าในรูปแบบการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสการปรับกฎหมายการทำธุรกิจในประเทศ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับผู้ประกอบการในประเทศต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ตามกติกาใหม่ของโลก

ในส่วนของไทยเองแม้ว่าขณะนี้จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กนศ. แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายประเทศที่กำลังสนใจและจะเข้าไปในกรอบนี้ โอกาสของการเข้าไปในกรอบนี้ ไม่ใช่แค่มุมที่ไทยอยากส่งออกเพิ่ม แต่เป็นการป้องกันตัวเองในอนาคต ที่จะต้องมีกรอบการค้าที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้ประโยชน์ ตามชนิดสินค้าหรือตามข้อตกลงของประเทศที่อยู่ในกรอบ รวมถึงการใช้วัตถุดิบของประเทศที่อยู่ในกรอบ นำมาผลิตสินค้าและส่งกลับไปในประเทศกลุ่มเดียวกัน เพราะแต่ละกรอบมีข้อกำหนดที่ต่างกัน   ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่มีภาคีการค้ามาก จะได้เปรียบประเทศที่มีภาคีน้อย จะเห็นได้ชัดในกรณีผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบเยอะ แล้วต้องนำเข้าวัตถุดิบจากหลายประเทศ ก็ช่วยให้ได้วัตถุดิบราคาถูกลงจากภาษีนำเข้า จึงผลิตสินค้าได้ถูกลง ผู้บริโภคในประเทศก็ได้ประโยชน์ เมื่อส่งออก จะได้ประโยชน์ด้านภาษีของประเทศปลายทางจากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า จึงช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันด้วย ประเทศจะได้รายได้เพิ่มจากการส่งออก นอกจากนี้เป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น เนื่องจากมีคู่ค้าให้เลือกทำตลาดได้หลายระดับราคา และส่งเสริมผู้เล่นในประเทศมีโอกาสไต่ระดับตลาดมาตรฐานสูงขึ้นเมื่อแข็งแกร่งขึ้น

ไทยจะเสียเปรียบประเทศสมาชิก CPTPP หรือไม่นั้นไม่มีกรอบการค้าใดในโลกที่จะมีแต่ได้กับได้มักจะมี ไทยอาจจะต้องยอมเสียเปรียบอยู่ด้วยซึ่งต้องดูให้ถี่ถ้วน และการเข้าไปร่วมเจรจาเป็น โอกาสการต่อรองให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดและหาก ต่อรองไม่ได้ในเรื่องสำคัญไทยก็สามารถถอนออกมาได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศสมาชิก เพราะการเข้าร่วมเจรจาคือการเข้าไปต่อรองให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วค่อยตัดสินใจ  ส่วนสหรัฐจะกลับเข้ามาร่วมCPTPPหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ตอบยาก”

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการ ศึกษาการเข้าร่วม CPTPPของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธานยังไม่ได้ข้อสรุป