นาย สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–จีน ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นหารือสำคัญ คือ การเร่งเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมและด้านการลงทุนตามที่ระบุไว้ในความตกลง ACFTA และร่วมกันจัดทำการศึกษา (Joint Feasibility Study) ในสาขาความร่วมมือต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งตนในฐานะผู้ประสานงานของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้กล่าวย้ำว่าการศึกษาต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความสำคัญของการกระชับความร่วมมือด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยในส่วนของไทยนั้น ได้ให้ข้อมูลนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์เพื่อเป็นแนวทางในการหารือการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบความร่วมมือดังกล่าวด้วย
“ที่ประชุมยังได้ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีนที่มีความใกล้ชิดกันในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของกันและกัน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน เช่น การจัดตั้งกลไกหารือสำหรับภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ การให้ความช่วยเหลือ MSMEs ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง ACFTA ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนหารือถึงการสนับสนุนของจีนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น กิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และการจัดงานแสดงสินค้าจีน–อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ครั้งที่ 18 ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน อีกด้วย”
ทั้งนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำจากสถานการณ์โควิด–19 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยในส่วนของไทยนั้น การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 59,029 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 30.6% โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 21,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น และนำเข้าจากจีน 37,269 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น