อาเซียนถือมีความสำคัญกับการค้าการลงทุนของไทยมายาวนาน โดยในปี 2563 ไทยมีมูลค่ากับอาเซียน(9 ประเทศ) 94,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.94 ล้านล้านบาท) และ 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการค้า 63,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.95 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในภาพรวมยังสดใส แม้ไทยและประเทศสมาชิกยังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การค้าการลงทุนในกลุ่มยังมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอาเซียนด้วยกันเอง ระหว่างวันที่ 8-15 กันยายนนี้ ไทยเตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 ผ่านระบบทางไกลเพื่อหารือความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชนของอาเซียน เพื่อยกระดับการค้าการลงทุน ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอื่น ๆ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระ ทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ และจะร่วมกับอาเซียนรับรองเอกสารสำคัญในการประชุม AEM ครั้งนี้มี 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อกำหนดขอบเขตงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 2.การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน (แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน) ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะสั้นและกลาง ระหว่างปี 2564 - 2568
3.แผนงานในการดำเนินการตามความตกลงอี-คอมเมิร์ซของอาเซียนซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และการจัดทำแผนงานสำหรับการปฏิบัติตามความตกลงฯ 4.เครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) ซึ่งที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน และปรับการใช้มาตรการ NTMs เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการและลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค และ5.แผนงานความร่วมมือที่อาเซียนจะดำเนินการกับประเทศคู่เจรจา เช่น อาเซียน-สหรัฐอเมริกา อาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) -อาเซียน-รัสเซีย อาเซียน-ฮ่องกง อาเซียน-สหภาพยุโรป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่อาเซียนจะหารือกัน เพื่อช่วยขยายการส่งออก และลดเลิกอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดระหว่างกัน เช่น การยกระดับความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนที่มีกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-อินเดีย เพื่อให้มีการเปิดตลาด ลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันมากขึ้น เป็นต้น
“ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ทุกชาติต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนรอบด้วย เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและการเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชนเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น” นางอรมน กล่าว
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564