ชู “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” กระชับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน ฟื้นเศรษฐกิจ

13 ก.ค. 2564 | 10:43 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 17:51 น.

“พาณิชย์” ชู เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด กระชับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน ฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรหวังดันไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

นาย สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเข้าร่วมเป็นองค์ปาฐกถา ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของอาเซียนและจีนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง” ในงานสัมมนา FutureChina Global Forum โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์ และสภาธุรกิจสิงคโปร์-จีน ว่าอาเซียนและจีนมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอาเซียน ปี 2563 มีสัดส่วนถึง 24 %ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของอาเซียน

ชู “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”  กระชับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน ฟื้นเศรษฐกิจ

และถึงแม้ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การค้าอาเซียน-จีน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2563 เป็นปีแรกที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน แทนสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 730,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้นโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดที่มุ่งสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้กับภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งจ้างงานถึง 49 %ในไทย โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนภาคเกษตร กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (BCG model) เป็นวาระแห่งชาติ

โดยโมเดลดังกล่าวอาศัยศักยภาพของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ(4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์