“จีน-อังกฤษ”ร่วม CPTPP กดดันไทยตัดสินใจ ไปต่อหรือหยุด

24 ก.ย. 2564 | 03:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 11:20 น.

การค้าโลกร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจีนยื่นสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ทั่วโลกจับตามองจะเกิดอะไรขึ้นอย่างไรต่อไป

 

ก่อนหน้านี้ CPTPP หรือชื่อเดิมคือ TPP ริเริ่มโดยสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป้าหมายเพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่มาเวลานี้จีนจะเข้าร่วม CPTPP เสียเองหลังสหรัฐฯถอนตัวออกไปในปี 2560 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เหตุผลที่แท้จริงของจีนในการขอเข้าร่วม CPTPP ครั้งนี้ คงตอบแทนจีนไม่ได้ แต่ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนจะเป็นการเพิ่มพันธมิตร และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของจีนในฐานะที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ และฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

 

กดดันไทยเร่งพิจารณา

 อย่างไรก็ดี นอกจากจีนที่ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว ยังมีสหราชอาณาจักร (ยูเค/อังกฤษ) ที่ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้วเช่นกัน ดังนั้นในส่วนของไทยคงจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ และคงต้องติดตามว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้าและจะใช้เวลาในการเจรจารวดเร็วหรือยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งการเข้าร่วมของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เช่นจีน และสหราชอาณาจักร (กราฟิกประกอบ)  ทำให้ไทยจำเป็นต้องเร่งพิจารณาในเรื่องนี้

 

อรมน  ทรัพย์ทวีธรรม

 

การเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของจีน ทำให้ความตกลงมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจาก CPTPP จะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก  จากเดิมสมาชิก 11 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า  500 ล้านคน มูลค่า GDP 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อนับรวมจีน จะส่งผลให้จำนวนประชากรในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็น กว่า 1,900 ล้านคน ( คิดเป็น 25% ของประชากรโลก)  มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (30% ของ GDP โลก) ซึ่งเรื่องที่จีนสมัครเข้า CPTPP คงต้องเร่งประเมินประโยชน์ และผลกระทบต่อไทย เพื่อพิจารณาให้ทันท่วงที”

 

สหรัฐฯส่อหมดสิทธิ์คัมแบ็ก

ต่อคำถามที่ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้สหรัฐฯก็ไม่มีสิทธิกลับเข้าร่วม CPTPP แล้วใช่หรือไม่ อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่เห็นกล่าวถึงการกลับมาเป็นสมาชิก CPTPP หลังสหรัฐฯถอนตัวไปตั้งแต่ปี 2560 สมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศได้เดินหน้าสานต่อความตกลง โดยได้ถอดเรื่องที่สหรัฐฯผลักดันออกไป ทำให้ต้องประเมินใหม่ว่าสหรัฐฯยังเห็นว่า CPTPP มีความน่าสนใจหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นสหรัฐฯแสดงความสนใจ

 

“จีน-อังกฤษ”ร่วม CPTPP กดดันไทยตัดสินใจ ไปต่อหรือหยุด

 

สำหรับ CPTPP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค ซึ่งมีสาระสำคัญคือเปิดเสรีในระดับสูง มีกฎระเบียบทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง  ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 ปัจจุบันประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว มี 8 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  เวียดนาม  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก และเปรู (ยังขาด ชิลี มาเลเซีย บรูไน ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน) ทั้งนี้มีผลการศึกษาของสถาบัน CSIS (Center for Strategic and International Studies) พบว่า นับตั้งแต่ CPTPP มีผลใช้บังคับในปี 2561 ประเทศที่การส่งออกไปในกลุ่มสมาชิก CPTPP ด้วยกันขยายตัวในปี 2562 ได้แก่ เวียดนาม 7% ออสเตรเลีย 0.5% อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ตัวเลขการส่งออกระหว่างสมาชิก CPTPP หดตัว  แต่ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2562-2563 ของเวียดนามขยายตัวถึง 7% โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน และเกาหลีใต้

 

“จีน-อังกฤษ”ร่วม CPTPP กดดันไทยตัดสินใจ ไปต่อหรือหยุด

 

ค้าไทยไม่ถึงทางตัน

“ในส่วนของไทยจากสมาชิก  CPTPP ณ เวลานี้ที่มีอยู่ 11 ประเทศ ในจำนวนนี้ไทยมี FTA กับประเทศเหล่านี้แล้ว 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และ (สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย และเวียดนาม ในกรอบอาเซียน ) ยังขาดเม็กซิโก กับแคนาดาที่ไทยไม่มี FTA ด้วย แต่ไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในเร็ว ๆ นี้ จึงถือได้ว่าไทยมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศ CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่” 

 

อย่างไรก็ตาม CPTPP ที่รวมจีน จะมีความน่าสนใจในเรื่องขนาดตลาด และการเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกผ่านห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาค (regional value chain) ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาพิจารณาว่าหากไทยไม่ได้เข้าร่วมจะเสียโอกาสในเรื่องนี้หรือไม่ และจะเสียความน่าสนใจในการดึงดูดการลงทุนไปให้ประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ของ CPTPP หรือไม่

 

“ถ้าพิจารณาเฉพาะตลาดจีน ปัจจุบันไทยมี FTA กับจีนอยู่แล้วในกรอบอาเซียน-จีน และใน RCEP ที่จะมีผลใช้บังคับในต้นปีหน้า ซึ่งทั้งสองกรอบดังกล่าว จีนได้เปิดตลาด ลด และยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยแล้วกว่า 94.8% ของรายการสินค้าทั้งหมด แต่ใน CPTPP กำหนดให้สมาชิกต้องเปิดตลาดระหว่างกันให้มากที่สุด ไทยก็น่าจะได้ประโยชน์จากการที่จีนต้องเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่ได้เปิด รวมทั้งไทยเองก็ต้องเปิดตลาดเพิ่มเติมให้จีนด้วย”

 

สำหรับการพิจารณาเรื่อง CPTPP ของไทย เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนติดตามและให้ความสนใจ จึงถูกยกระดับการพิจารณา เรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีกรรมการเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจมาช่วยพิจารณาให้รอบด้าน  ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของกนศ.

หน้า  9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3716 วันที่ 23-25 กันยายน 2564