นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ประเด็นที่น่าจับตามองขณะนี้คือการเข้าร่วมในข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆของไทยทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP การเปิดเขตเสรีทางการค้าหรือ เอฟทีเอ ที่ไทยยังไม่มีความคืบหน้าเพราะยังมีการคัดค้านจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาสูงกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งโดยเวียดนามที่ไทยเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดเพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ลงนามในความตกลงทางการค้ากับแทบทุกประเทศ ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามเสียภาษีน้อยหรือแทบไม่เสียภาษีเลย
ดังนั้น ภาครัฐมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่ยังคัดค้านและต้องมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้ก็คือการที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งจะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและหากไทยไม่ร่วมข้อตกลงใด ๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยตกขบวน
“หากไทยลงนามใด ๆเลยถ้าประเทศนำเข้าประกาศเลิกซื้อสินค้าจากไทยบอกกเลยว่าเราออยู่ไม่ได้ทั้งระบบ เกษตรกรก็อยู่ไม่ได้ตายทั้งหมดรัฐบาลต้องเร่งอธิบายให้ประชาชนเข้าใจยิ่งจีนประกาศเข้าCPTPP ถือเป็นเรื่องใหญ่ถามว่าไทยลงนามอะไรบ้างก็บอกว่ายังมีลงนามแค่อินเดีย ออสเตรเลียังซึ่งไม่ใช่ตลาดใหญ่ของเราดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งลงนามให้ตรงจุด ” นายพจน์ กล่าว
ด้าน นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า คาดว่าการส่งออกในส่วนของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วง ไตรมาสที่4 ของปีนี้ หรืออีก 3 เดือนที่เหลือคาดว่าจะขยายตัวได้อีก 10%หรือ 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการทำนิวไฮจากที่เคยทำได้สูงถึง 2.3 แสนล้านบาทในปี 2562 แม้ว่าที่ผ่านมาต้องประสบกับการระบาดของโควิดในโรงงานหลายคลัสเตอร์แต่ก็แก้ไขปัญหาจนโรงงานต่าง ๆกลับมาเปิดได้ตามปกติ ส่วนปัจจัยลบก็ยังเป็นเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ค่าระวางเรือที่ยังสูง แต่คาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น ภายใน 4-6เดือนข้างหน้านี้
“ในปีที่แล้วกำลังซื้อในส่วนของอุตสาหกรรมนี้ลดลงอย่างมากเพราะเป็นช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ ส่งผลให้การส่งออกหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ติดลบกว่า 10% เครื่องนุ่งห่มกว่า 16% สิ่งทอเกือบ 20% ทำให้ภาพรวมติดลบไป10-20% แต่ปีนี้ตัวเลขกลับมากว่า 10%แต่ยังไม่เท่าก่อนปีโควิดจะระบาด แต่ก็มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นจากปีที่แล้ว 10-12% จากที่เคยติดลบ 16-18% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีโดยหันมาติดต่อกันผ่านระบบออนไลน์ถือเป็นการปรับตัวในยุคนิวนอร์มอล เป็นการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ และคิดว่าวิถีเหล่านี้ควรนำมาใช้อย่างต่อเนื่องให้เป็นเรื่องปกติ รวมทั้งการปรับตัวในด้านการผลิตสินค้าใหม่ ๆเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐก็ยังต้องเข้ามาช่วยเอกชนโดยเฉพาะการลงนามในข้อตกลงทางการค้าที่จะทำให้ไทยสินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”นายยุทธนากล่าว
นายการัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด กล่าวว่า กลุ่มของใช้บนโต๊ะอาหารอุตสาหกรรมนี้เติบโตมาตลอดและไตรมาส 4 ก็คาดว่าจะขยายตัวอีกหากไม่มีการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้นก็คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งก็เกิดจากคำสั่งซื้อที่เคยชะลอตัวในช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ และการกีดกันทางการค้าทำให้ซัพพลายเออร์ต้องหาทางเลือกใหม่ ๆในการสั่งสินค้า ซึ่งเอกชนต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้นในการเข้าหาลูกค้ารวมทั้งต้องผลิตและส่งมอบให้ได้ตามที่ลูกค้ากำหนด แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ ความแออัดของท่าเรือก็ยังเป็นปัญหาแต่ภาครัฐก็ได้ช่วยเหลือซึ่งก็มั่นใจว่าคลี่คลายได้ในอนาคต