นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และผู้ให้บริการต้านงานวิศวกรรมแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทได้ผ่านการพิจารณาเกณฑ์คัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 กันยายน 2564
โดยมีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 3 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 19.8 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย
1. โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนาแก้ว จ.ลำปาง กำลังการผลิต 6.6 เมกะวัตต์
2. โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเนินปอ จ.พิจิตร กำลังการผลิต 6.6 เมกะวัตต์
3. โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนากอก จ.หนองบัวลำภู กำลังการผลิต 6.6 เมกะวัตต์
โดยมีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 21 มกราคม 2565 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 21 มกราคม 2568
"ด้วยประสบการณ์การประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลในรอบพื้นที่ภาคใต้ก่อนหน้านี้ บริษัทจึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการกำหนดราคายื่นประมูลที่มั่นใจว่าสามารถแข่งขันได้ และยังคงได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงบริษัทมีศักยภาพและความพร้อมในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านงานวิศวกรรมแบบครบวงจร
ถือว่ามีความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนรวมถึงด้านเชื้อเพลิง ที่สำคัญยังมีเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ โดย CV ได้เข้ารวมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและคว้างานโรงไฟฟ้าได้ 3 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 19.8 เมกะวัตต์"
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า มีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวนทั้งสิ้น 43 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย)
แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย) และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย) ตามกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดเป้าหมายจากเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมดจะต้องยอมรับเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภายใน 7 วันและลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 120 วัน หลังประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ โดยกําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 36 เดือนนับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือภายในวันที่ 21 มกราคม 2568
อย่างไรก็ตามหากผู้เสนอราคารายใดมีข้อสงสัยและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับการพิจารณาด้านราคาสามารถติดต่อสำนักงาน กกพ. ได้ที่ 0-2207-3599 ต่อ 855 ในวันทำการ เวลา 09.30 – 15.30 น.
“สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการจัดสัมมนาผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อชี้แจงแนวทางในการพัฒนาโครงการตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า การจัดเตรียมเอกสาร COP การจัดรับฟังความเห็นเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ การขอรับใบอนุญาตและการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ประสบความสำเร็จและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับความเข้าใจของชุมชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพัฒนาโครงการแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนในระยะต่อไป” นายคมกฤช กล่าว