กลายเป็นกระแสดราม่าในช่วงที่ผ่านมาถึงการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท ที่ส่อแววฮั้วประมูล ตั้งแต่เริ่มกระบวนการประกวดราคาเสียแล้ว ระหว่างที่รฟท.เปิดประมูล พบว่าเอกชนที่ผ่านเกณฑ์เข้าประมูลเสนอราคาห่างจากราคากลางไม่มาก อีกทั้งยังพบว่าการประมูลแบ่งเป็น 5 สัญญาและมีผู้รับเหมารายใหญ่เข้าร่วมประมูลทั้ง 5 รายและชนะการประมูลทุกราย จึงเป็นข้อพิรุธ ที่อาจสมรู้ร่วมคิด ล็อกสเปคในการฮั้วประมูลที่เข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา
แหล่งข่าววงการรับเหมา กล่าวว่า การประมูลในครั้งนี้พบว่ามีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ได้รับคำเชิญจากนักการเมืองชื่อดัง จากจังหวัดบุรีรัมย์ เรียกทั้ง 5 บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ เข้าพบ โดยอ้างว่าสามารถแบ่งงานกันได้โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคาและมีการอ้างในการเรียกรับผลประโยชน์ 7%
หากดูผลงานทีโออาร์ของโครงการฯก่อสร้างรถไฟทางคู่นั้น พบว่ามีเพียง 5 บริษัทที่สามารถนำผลงานเข้ายื่นข้อเสนอโครงการได้ ประกอบด้วย 1.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 4.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัทเอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด
สำหรับผลการประกวดราคาโครงการทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม.วงเงิน 66,848 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทั้งหมด 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 177.50 กม. วงเงิน 27,127 ล้านบาท ราคากลาง 27,123 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย จากผู้ซื้อซอง16 ราย โดยเสนอราคาตํ่าสุด27,100 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 177.2 กม. วงเงิน 28,335 ล้านบาท ราคากลาง 28,333 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย จากผู้ซื้อซอง16 ราย ราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 28,310 ล้านบาท หลังจากนี้จะเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอด้านเทคนิคภายในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ประกาศผลผู้ชนะการประมูลโครงการภายในวันที่ 15 ก.ค.2564 และลงนามสัญญาภายในวันที่ 6 ส.ค.2564 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการในปี 2569 ทั้งนี้ใน 3 สัญญา พบว่ามีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสและน่าสังเกตมากว่าแต่ละสัญญามีผู้ซื้อซองจำนวนมาก
ขณะที่ผลการประกวดราคาโครงการทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 323 กม.สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล จำนวน 17 ราย โดยผลเสนอราคาตํ่าสุด 26,568 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 31 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้าน ตํ่ากว่าราคากลางบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 18 รายแต่มีผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละสัญญาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาตํ่าสุด 26,900 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 13 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 16 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละสัญญาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาตํ่าสุด 19,390 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 16 ล้านบาท
หลังจากการประกวดราคาทั้ง 2 โครงการ ทำให้สังคมแห่ตั้งคำถามถึงการประมูลโครงการฯที่ไม่โปร่งใสและเข้าข่ายในการฮั้วประมูลโครงการหรือไม่ แต่ก็ไม่เป็นผล รฟท.ยังคงเดินหน้าที่จะประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาทางคู่สายเหนือในวันที่ 9 ก.ค.64 และลงนามสัญญาในวันที่ 2 ส.ค.64 ขณะที่ทางคู่สายอีสานจะประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 15 ก.ค.64 และลงนามสัญญา 6 ส.ค.64 จากการกระทำของรฟท.ทำให้หลายหน่วยงานและองค์กรต่างๆมีการร้องเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวที่เกิดขึ้นว่ามีการฮั้วประมูลจริงหรือไม่ หลังจากนั้นมีหนังสือลับจากนายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 โครงการที่เกิดขึ้นเพื่อหาข้อสรุปและเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปคุยรายละเอียดเพิ่มเติมด้วย
ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่อง การประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม รวมวงเงิน 1.28 แสนล้านบาท นั้น ปัจจุบันคณะกรรมการฯอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการประมูลโครงการฯดังกล่าว ซึ่งใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว เบื้องต้นจะมีการประชุมคณะกรรมการฯร่วมกันเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบผลการตรวจสอบของคณะกรรมการต่อไป
“กรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่าผลการสอบสวนของโครงการดังกล่าวอาจพ้นข้อครหาในการฮั้วประมูลหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดของคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการฯพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกๆส่วนเพื่อให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนว่าเป็นอย่างไร”
สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ ในการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม มีหลายส่วนที่ต้องพิจารณา เช่น การปรับลดจำนวนการแบ่งสัญญาเหลือเพียง 3 สัญญา โดยเป็นการเปลี่ยนทีโออาร์ตามหนังสือของกระทรวงคมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 จากเดิมที่เคยแบ่งการประมูลสายเหนือออกเป็นสัญญา 7 สัญญา ประกอบด้วยงานโยธาและระบบราง 6 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา เหลือเพียง 3 สัญญา โดยรวมประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณเข้ากับงานโยธา รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานมีราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากันคือแค่ 0.08% เท่านั้น ฯลฯ
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสานนั้น ที่ผ่านมารฟท.ได้เข้าไปดำเนินการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประมูลทั้ง 2 โครงการต่อคณะกรรมการฯ แล้ว
อย่างไรก็ตามสังคมยังคงรอคำตอบหากท้ายที่สุดแล้วผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อพิรุธจริงอย่างที่กล่าวอ้างนั้น ภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยทั้ง 2 โครงการที่อยู่ระหว่างประมูลนั้นจะต้องชะลอหรือล้มประมูลและเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งหรือไม่