UAC คว้าโรงไฟฟ้าชุมชนขอนแก่น ลั่นพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้พันธมิตรทุกราย

27 ก.ย. 2564 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2564 | 12:18 น.

UAC เข้าวินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนขอนแก่น ขนาด 3 เมกะวัตต์ CEO “ชัชพล ประสพโชค” ระบุพร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านโรงไฟฟ้าชุมชนให้กับพันธมิตรทุกราย และหากภาครัฐเปิดประมูลรอบใหม่พร้อมลงสนามแข่งทุกเมื่อ

 

นายชัชพล  ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เผยว่า ภายหลังจากการยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 และผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า จำนวน 12 เมกะวัตต์

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) โดยโครงการของ UAC ผ่านการพิจารณาด้านราคาขั้นสุดท้าย จำนวน 1 โครงการ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเป็นโครงการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์

 

 

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทฯสามารถคว้างานโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวได้ บริษัทฯเตรียมเดินหน้าโครงการร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร เพื่อจัดหาวัตถุดิบที่นำมาใช้สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ ตามกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 36 เดือนนับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือภายในวันที่ 21 มกราคม 2568 โดยกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก    

 

“สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน อีก 3 โครงการ ที่ไม่ผ่านการพิจารณาในรอบโครงการนำร่องครั้งนี้ หากนโนบายภาครัฐมีการเปิดให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนระยะ 2 บริษัทฯก็พร้อมที่จะนำโครงการดังกล่าวเสนอเข้าประมูลใหม่อีกครั้ง เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้สอดรับกับประชาคมโลกที่มุ่งเน้นพลังงานไฟฟ้าสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนและรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) ต่อไป”

 

 

บริษัทฯยังคงมุ่งเน้นนโยบายการลงทุนด้าน Energy Efficiency ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ต่อเนื่อง พร้อมทั้งการขยายการให้บริการ Consult Service ที่มีการออกแบบ และสร้างโรงงาน Biogas โดยใช้พืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิง หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบไบโอแก๊ส จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตของโรงงาน (ซังข้าวโพด) ให้กับ บมจ.ซันสวีท (SUN) ในช่วงที่ผ่านมา โดยเปิดกว้างรับพันธมิตรที่สนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน และเปิดรับการร่วมมือในด้านอื่น ๆ กับพันธมิตรทุกราย