นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงาน “ECO Innovation Forum 2021” พร้อมมอบนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วย BCG Model ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและ ส.อ.ท. กำหนดกลไกการดำเนินงานร่วม โดยการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีกลไกขับเคลื่อนร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model โดยเฉพาะประเด็นของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้เกิดขึ้น ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการใช้น้ำและพลังงานในภาคอุตสาหกรรม ลดผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งในระดับโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม
และระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและยกระดับให้เกิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม โดยบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้มองเพียงผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะขาดแคลนขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น จึงเกิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขึ้น เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานและกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ รวมถึงพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ไม่เพียงแต่พัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ กนอ.ยังดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ที่สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580 ) ซึ่ง BCG Model ถือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า และนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดย กนอ.ขับเคลื่อน BCG Model ผ่านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ
“กนอ. และสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือ โควิด-19 (Covid-19) จึงได้มีการปรับรูปแบบการจัดงานเป็น Virtual Event โดยวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการด้านการดำเนินงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน เชิดชูเกียรติแก่นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และ ผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่าง ยั่งยืน และยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ด้วย BCG Model ของรัฐบาล”
สำหรับปีนี้มีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-World Class 2 แห่ง ระดับ Eco-Excellence 4 แห่ง ระดับ Eco-Champion 2 แห่ง นิคม/ท่าเรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 จำนวน 1 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 4.0 จำนวน 5 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 45 แห่ง และมีโรงงานได้รับรอง Water Footprint จำนวน 8 แห่ง ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศรวม 36 แห่ง โดยยกระดับเป็นระดับ Eco-Excellence 16 แห่ง ระดับ Eco-World Class 5 แห่ง
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. และ กนอ. มีนโยบายทิศทางเดียวกันในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้แสดงเจตจำนงในการร่วมมือเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการพัฒนายกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยลักษณะของโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory จะสอดคล้องกับข้อกำหนดเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจมิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติการบริหาร
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้มีการให้รับรองมาตรฐานวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่จะยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย
"จากความร่วมมือของ ส.อ.ท. และ กนอ. ที่ผ่านมา.และภารกิจของทั้ง 2 ฝ่ายในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสู่ความเป็น Eco ในปีนี้ ส.อ.ท. และ กนอ. ได้จับมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อขยายความร่วมมือในการเป็นหน่วยร่วมส่งเสริมและรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town) ของประเทศ"
อย่างไรก็ดี เพื่อให้มาตรฐาน Eco Factory เหมาะสมกับอุตสาหกรรมทุกขนาด ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงได้ปรับระดับการรับรองเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1.Eco Factory Beginner ซึ่งเหมาะกับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม ระดับที่ 2.Eco Factory ซึ่งให้การรับรองอยู่ในปัจจุบัน และเทียบเท่าอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 ที่รับรองโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และระดับที่ 3.Eco Factory Plus มุ่งส่งเสริม Value Chain Network เพื่อขยายผลความร่วมมือนี้ตอบนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล โดยเฉพาะ Green Economy เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการเกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ) ที่ได้กำหนดโรงงานอุตสาหกรรมในกำกับประมาณ 71,130 โรง ทั่วประเทศพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งเป้าภายในปี 2568 ซึ่ง ส.อ.ท.ได้นำนโยบายมากำหนดแผนงานเพื่อส่งเสริมให้สมาชิก ส.อ.ท. ได้รับรอง Eco Factory หรืออุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดภายในปี 2568 ด้วยเช่นกัน