นายพงศ์เทพ นรขำ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมก๊าซ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมกำลังการผลิตก๊าซออกซิเจนทั้งประเทศอยู่ที่ 1,860 ตันต่อวัน จาก 15 โรงงาน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่ ยังมีโรงงานบรรจุท่อก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 130 โรงงาน ซึ่งหากเกิดกรณีฉุกเฉินยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,260 ตันต่อวัน แบ่งเป็นปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ประมาณ 400-600 ตันต่อวัน และความต้องการก๊าซออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 660 ตันต่อวัน และมี ท่อออกซิเจนทางการแพทย์หมุนเวียนอยู่ในระบบ 80,000-100,000 ท่อ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้งานออกซิเจนทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากออกซิเจนทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการรักษา โดยเฉพาะผู้ติดเชื้ออาการหนักในโรงพยาบาล ผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้หลายภาคส่วนเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การขาดแคลนออกซิเจนทางการแพทย์ภายในประเทศ จึงมีการกักตุนโดยซื้อถังออกซิเจนและอุปกรณ์เครื่องผลิตออกซิเจนเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ต้องฝากถึงพี่น้องประชาชนที่จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ใช้ที่บ้าน ขอให้จัดเก็บอย่างระมัดระวัง เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ หากไม่มีความจำเป็นไม่แนะนำให้กักตุนไว้ในที่พักอาศัย
สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้งานนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำวิธีการใช้งานเบื้องต้น คือ ควรเคลื่อนย้ายท่อก๊าซออกซิเจนด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบกระเทือน กระแทก หรือโยนท่อ ห้ามใช้สารหล่อลื่น น้ำมัน หรือสารติดไฟกับอุปกรณ์ที่ใช้งานกับออกซิเจนเด็ดขาด การติดตั้งชุดอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับท่อบรรจุก๊าซออกซิเจน ต้องขันยึดให้แน่น จัดเก็บในสถานที่แห้ง มีการถ่ายเทของอากาศได้ดีและมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส โดยห้ามเก็บท่อบรรจุก๊าซออกซิเจนร่วมกับวัสดุหรือก๊าซอื่นๆ ที่ติดไฟได้ง่าย