นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาปฐมนิเทศ โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ผ่านระบบออนไลน์ ว่า การสัมมนาครั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอขอบเขตการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย การบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีในโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง และแผนงานการขยายเส้นทาง โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP: Public-Private Partnerships) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยในการศึกษานี้ จะครอบคลุมโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วงบางซื่อ-รังสิต-ตลิ่งชัน ส่วนที่ 2 คือส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง และส่วนที่ 3 การให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เต็มรูปแบบ เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) อย่างต่อเนื่อง จัดช่วงการเดินรถให้เต็มประสิทธิภาพ สร้างความคุ้มค่าให้โครงการ
นายสุชีพ กล่าวต่อว่า โครงการจะดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการเดินรถเบื้องต้นให้สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางได้เพียงพอ และสอดคล้องกับระบบการเดินรถเดิมที่มีอยู่ โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รูปแบบการเดินรถร่วมกับการเดินรถของ รฟท. ในส่วนของรถไฟทางไกล ระยะที่ 2 ในระยะการเปิดส่วนต่อขยายสายสีแดงช่วงต่าง ๆ ทั้งช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง และการปรับรูปแบบการเดินรถในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ รฟท. ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวก ระยะที่ 3 เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินรถจะเป็นการให้บริการเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ รฟท. ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมารับช่วงต่อการให้บริการรถไฟชานเมืองจาก รฟท. เป็นรูปแบบรถไฟฟ้าทั้งหมด
ทั้งนี้โครงการฯ จะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน พร้อมผลตอบแทนอย่างเหมาะสม โครงการฯ ได้วิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงานร่วมให้ความคิดเห็น โดยมีรูปแบบต่าง ๆ โดยคำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสม โดยแผนการการดำเนินงานศึกษาการร่วมลงทุนฯ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จะใช้เวลาดำเนินการศึกษาทั้งหมด 12 เดือน (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 – พฤษภาคม 2565) จากนั้นจะเริ่มกระบวนการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนโดยจะใช้เวลาประมาณ 14 เดือน (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 – กรกฎาคม 2566) ซึ่งโครงการดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว และส่งเสริมให้การพัฒนาเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสายสีแดงส่วนต่อขยาย ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) มีบทบาทในการขนส่งผู้โดยสารที่พักอาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ เชื่อมโยงการเดินทางกับโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ดังนั้น เพื่อผลักดันให้การพัฒนารถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนงานการต่อขยายเส้นทางต่าง ๆ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อเดินหน้าการพัฒนาโครงข่ายระบบรางช่วยให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด